เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ก็เป็นที่ชัดเจนว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักคิดที่ก้าวหน้าคนหนึ่งของสังคมไทย ได้รับหมายเรียกตัวจากสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งให้ไปรายงานตัว และเป็นที่ทราบต่อมาว่า ทางการตำรวจได้มีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการแผ่นดิน ดำเนินการฟ้องร้องสมศักดิ์ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งจะทำให้เขาตกเป็นเหยื่อรายล่าสุดของกฎหมายป่าเถื่อนฉบับนี้
กรณีการดำเนินคดีนายสมศักดิ์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญของมาตรา 112 ทั้งในด้านของตัวบทและการใช้กฎหมาย เริ่มต้นจากการที่กฎหมายนี้เปิดทางให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความ จึงเป็นการเปิดโอกาสสำหรับการใส่ร้ายป้ายสีและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยกลไกรัฐเสมอ เช่น กรณีของนายสมศักดิ์ ผู้กล่าวโทษแจ้งความก็คือ กองทัพบก ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 มาแล้ว และจากการที่กองทัพบกเป็นผู้แจ้งความนี้เอง น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ทางการตำรวจต้องมีมติส่งเรื่องให้อัยการฟ้อง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นนักต่อสู้ที่มีบทบาทมาตั้งแต่ก่อนกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และเคยถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมในกรณี6 ตุลามาแล้ว ต่อมา ก็ได้ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ และมีผลงานทางวิชาการอันน่าสนใจ เช่น เรื่อง ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (2544) ซึ่งแสดงให้เห็นความสามารถทางวิชาการตามแบบฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการใช้ข้อมูล และการอธิบายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ที่เข้าถึงข้อเท็จจริงได้ลึกซึ้งกว่างานประวัติศาสตร์โดยทั่วไปอย่างมาก
นอกจากนี้ ก็คือการแสดงบทบาทเป็นนักวิจารณ์ทางสังคมชนิดไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม ซึ่งเป็นการสร้างศัตรูจำนวนไม่น้อยทั้งในวงการวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน อย่างไรก็ตาม ความสามารถทางวิชาการของสมศักดิ์ก็เป็นที่ยอมรับ และถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่หลายเรื่อง เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย และ เรื่องประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น สำหรับนักศึกษาที่เคยเรียนกับอาจารย์สมศักดิ์ ยังทราบกันดีว่า สมศักดิ์มีความเชี่ยวชาญในอีกหลายเรื่อง เช่น ทฤษฎีสำนักลัทธิมาร์กซและประวัติศาสตร์ขบวนการสังคมนิยมโลก ประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต และในด้านปรัชญาประวัติศาสตร์
และด้วยความเป็นนักวิชาการกระแสใหม่ที่สนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเป็นผู้ผ่านประสบการณ์ตรงในกรณี ๖ ตุลา ทำให้สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นคนแรกๆ ที่มีบทบาทเด่นชัดในการรณรงค์คัดค้านการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ และต่อมา เขาก็ได้รวบรวมความคิดที่ตกผลึก มานำเสนอมาตรการในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยดังเช่นนานาประเทศ ข้อเสนอทั้งหมดมี 8 ข้อดังนี้
1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพิ่มมาตราในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 คือให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาเรื่องฟ้องร้องกษัตริย์ได้
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
3. ยกเลิกองคมนตรี
4. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2491
5. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว และการให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด
6. ยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด
8. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลอธิบายว่า การปฏิบัติตามข้อเสนอนี้ ผลลัพธ์ไม่ใช่การล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ทำให้สถาบันมีลักษณะเป็นสถาบันสมัยใหม่ ในลักษณะไม่ต่างจากยุโรป เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น และด้วยข้อเสนอนี้ ทำให้สมศักดิ์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เรียกร้องการปฏิรูปมาตรา 112 สมศักดิ์เห็นว่า การปฏิรูปกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องแก้ที่อุดมการณ์อันเป็นรากฐานแห่งความไม่เป็นธรรมนั้นด้วย
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมศักดิ์หรือไม่เพียงใด ก็ต้องยอมรับว่าการเสนอข้อเสนอ 8 ข้อนี้ คือความกล้าหาญอย่างยิ่งในทางวิชาการและในทางสังคม ถ้าหากว่าในแวดวงปัญญาชนไทยทุกฝ่าย นำเอาข้อเหล่านี้มาศึกษาและถกเถียง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยในประเทศไทย และจะทำให้ประเทศก้าวหน้าไปในด้านสิทธิมนุษยชน โดยการเลิกใส่ร้ายและทำร้ายกันด้วยความเห็นที่แตกต่าง
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กระแสหลักในสังคมไทย ต้องการสังคมแบบปิดหูปิดตา ไม่ยอมให้เนื้อที่กับความคิดแตกต่าง กองทัพบกไทยจึงได้หาเรื่องมาดำเนินคดีกับสมศักดิ์เช่นนี้
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่มา ประชาไท
No comments:
Post a Comment