Tuesday, November 13, 2012

คำตัดพ้อ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’วัน‘สภาไพร่’สะกด‘112 ริกเตอร์’!

หลังจากรัฐสภาสั่งจำหน่ายร่างแก้ไขมาตรา 112 (ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ...) โดยระบุว่ามีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งร่างดังกล่าว อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ได้รวบรวมรายชื่อทั่วประเทศ 39,185 ชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อแก้ไขมาตรา 112 สาระสำคัญสอดคล้องกับร่างแก้ไขมาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์คือ

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปีสำหรับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์”

“หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ” รายงานผ่านเว็บไซต์ thaipublica.org ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์เดินทางไปบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางการเมืองไทยจากอดีตถึงอนาคต” แก่นักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐ ในฐานะที่ประกาศเป็น “นักวิชาการทวนกระแสที่ไม่รับใช้อำนาจรัฐ” ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเคยปวารณาตนไม่ไว้ใจนักการเมือง แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว อาจารย์ชาญวิทย์ก็หวังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ “2 หัวขบวนไพร่” ซึ่งผ่านนาทีเป็นนาทีตายและอยู่ในสมรภูมิต่อสู้มายาวนานจะไม่เป็น “วัวลืมตีน”

แต่แล้วก็ต้อง “อกหัก” จาก “ผู้มีอำนาจ” อีกครั้ง เมื่อได้รับ “ข่าวร้ายข้ามทวีป” จากพรรคพวกที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนว่ารัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งขณะนั้นอยู่กับนายธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐ จึงทั้ง “เปิดอก” และ “ปรับทุกข์” ในวันที่ถูก “หัก” เป็นบางช่วงบางตอน

“ผมก็คุยกับธงชัย เมื่อเราได้ข่าวนี้เมื่อเช้าก็ผิดหวัง ผมเป็น 1 ใน 30,000 คนที่เซ็นชื่อ แล้วเอาไปยื่นที่รัฐสภาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2555 ก่อนจะมาอเมริกาเราก็ได้ชื่อนักวิชาการชั้นนำเยอะมาก ได้นักเขียน ได้กวีรุ่นใหม่ รวมถึงนักวิชาการต่างประเทศที่อาจารย์ธงชัยมีส่วนร่วมหามาด้วย ก็รณรงค์กัน ก็ต้องพูดว่าผิดหวังที่รัฐสภาจำหน่ายอันนี้ไป วันที่เราไปยื่น เขาให้รองประธานสภา (นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ) กับ ส.ส. บางท่านมารับ บอกว่าอาจต้องใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งกระบวนการจะใช้เวลา 4-5 เดือน อยู่ดีๆก็ได้ข่าวว่าเขาจำหน่ายไปแล้ว ดังนั้น ต้องบอกว่าผิดหวัง”

อาจารย์ชาญวิทย์ย้ำคำว่า “ผิดหวัง” เป็นหนที่ 3 ก่อนตั้งคำถามดังๆถึงผู้มีอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เพราะก่อนหน้านี้ ครก.112 โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเปรียบปรากฏการณ์ “112 ริกเตอร์” ที่มีประชาชน 30,383 ชีวิต ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าเป็นความพยายามของ “สามัญชน” ในการลุกขึ้น “ยืนตรง”

แต่การณ์ที่ปรากฏกลับเป็นภาพ “300 เสียงในสภา” ของ “รัฐบาลไพร่” นั่งนิ่ง ขณะที่บางส่วนวอล์คเอาต์ไปแล้ว?

“สิ่งที่ผมสงสัยคือ กระบวนการนี้ทำเหมือนกับบริหารราชการตามปรกติ ไม่เข้าข่ายก็ตกไป ผมก็ถามว่าที่บอกว่าไม่เข้าข่าย ใครเป็นคนบอก ประธานสภาคนเดียว หรือว่ากรรมการ หรือว่าสภา เพราะถ้าถามในแง่ความชอบธรรมในการจำหน่าย มันมีหรือ ในเมื่อเราทำตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญ มีคนลงนาม มีหลักฐานถูกต้องทุกอย่าง ส่งไป 30,000 คน ทำไมเราไม่ได้รับโอกาสให้ไปชี้แจงเลยว่าเหตุใดจึงต้องทำอย่างนี้ เหมือนกับส่งไปก็ดองเอาไว้พักหนึ่ง แล้วก็บอกไม่เอา รู้สึกว่าง่ายเกินไปนะถ้าจะบอกว่านี่เป็นการบริหารบ้านเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐสภา”

เมื่อ “ฉากต่อไป” ไม่เป็นดังคาด จุดเริ่มในการปฏิรูปสถาบันไม่ถูกตั้งต้น ทำให้อาจารย์ชาญวิทย์ปักใจเชื่อว่าจุดเปลี่ยนถูกกำหนดจาก “หลังฉาก”

“ผมมองว่าเฮ้ย! นี่มันเกี๊ยะเซียะนี่หว่า ก็พยายามเดาๆอยู่เหมือนกันว่าเกี๊ยะเซียะ ตัวแทนของอำนาจใหม่ บารมีใหม่ ต้องการจะเกี๊ยะเซียะกับอำนาจเก่าและบารมีเก่า ผมคิดว่าจะจบลงด้วยการที่คนระดับข้างบนๆเขาตกลงกัน แล้วก็รักษาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ข้างล่างก็ไม่ได้ ก็รับเคราะห์รับกรรมไป คนอย่างอากงก็ต้องรับเคราะห์รับกรรมไป แต่ข้างบนเขาตกลงกันแล้ว ในแง่นี้แปลว่าอะไร ถ้าจะพูดว่าหากเราเห็นพ้องต้องกันในการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยในบ้านเราก็ต้องอดทนทำงานต่อไป ก็ต้องผลักไป”

“ผมอยากจะพูดอย่างที่ชอบพูดบ่อยๆ ถ้าเผื่อเราทำให้สถาบันประชาธิปไตยขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์ อันนั้นแหละคืออันตรายของทั้งสถาบันกษัตริย์และสังคมด้วย คือเราต้องพัฒนาให้สถาบันประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ไปพร้อมกัน ไม่ใช่เอามาชนกัน ปัจจุบันผมคิดว่ามีคนจำนวนไม่น้อย บางคนด้วยความไม่เข้าใจ บางคนด้วยผลประโยชน์ ก็ใช้สถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง อันนี้อันตราย สิ่งที่เกิดขึ้นประมาณปี 2548 ผมคิดว่าเรื่องนี้จะถูกโหนมาก ศัพท์ทั่วๆไปเขาบอกว่า “โหนเจ้า” คือใช้สถาบันกษัตริย์ในแง่ของการกำจัดและจำกัดศัตรูทางการเมืองของตัวเอง อันนี้เป็นอันตรายมากๆ”

นอกจากภาวะ “โหนเจ้า” ปฏิเสธไม่ได้ว่าต่างฝ่ายต่าง “โหนประชาธิปไตย” จึงน่าสนใจว่า “ศัตรูของประชาธิปไตย” ในทรรศนะของอาจารย์ชาญวิทย์คือใคร?

“คือคนที่ไม่เชื่อมั่น และไม่ได้ผลประโยชน์จากประชาธิปไตย” อาจารย์ชาญวิทย์ตอบทันควัน ก่อนจำแนกออกเป็น 3 ขา ได้แก่

ขาแรกคือ เครือข่ายราชสำนักที่ได้ผลประโยชน์จากการอ้างและอิงสถาบันกษัตริย์

ขาที่ 2 คือบางส่วนของกองทัพ

ขาสุดท้ายคือ ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ

“กองทัพสามารถพลิกไปเป็นกองทัพประชาธิปไตยก็ได้ หรือพลิกไปเป็นกองทัพของฝ่ายตรงข้ามหรือประชาธิปไตยก็ได้ ต้องไม่ลืมว่ามีนายทหารที่เราสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นนักประชาธิปไตย เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (นายกรัฐมนตรีคนที่ 2) เป็นคนที่น่าจะเอาขึ้นมานั่งศึกษากันใหม่ คือท่านก็มีอนุสาวรีย์ยืนอยู่เงียบๆที่จังหวัดกาญจนบุรี อะไรทำนองนั้น เหมือนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (นายกรัฐมนตรีคนที่ 7) ก็มีอนุสาวรีย์นั่งอยู่เงียบๆในธรรมศาสตร์ ไม่มีใครเห็น ผมคิดว่าในแง่นี้กองทัพก็มีสิทธิจะเป็นประชาธิปไตยได้

ส่วนคนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงหรือค่อนข้างสูง โดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพฯ อันนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นศัตรูของประชาธิปไตย ผมชอบสังเกตทางด้านชนชั้น วรรณะ ผิวพรรณ (หัวเราะ) คนที่มีปัญหามากๆเกี่ยวกับความรักชาติผิดปรกติ อย่างกรณีปราสาทพระวิหาร ส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ถ้าคนที่อยู่สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ไม่ค่อยมีปัญหานะ เชื่อไหม ลองสังเกตดูสิครับ ยกเว้นคุณไปสร้างให้เขามีปัญหา ดังนั้น คนชั้นกลางในกรุงเทพฯเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยเท่าไร ต้องมาปรับความคิดความเข้าใจกันใหม่ บางทีเราคิดว่าหากสร้างคนชั้นกลางได้เยอะ การศึกษาดี ฐานะดี จะมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เสมอไป คนชั้นกลางในกรุงเทพฯเป็นคนที่น่าเป็นห่วงมาก”

อีกคำถามถูกโยนขึ้นกลางวง 80 ปีหลังเปลี่ยนระบอบการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” สู่ “ประชาธิปไตย” เวลาผ่านไป แต่เหตุใดประชาธิปไตยถึงไม่ก้าวหน้า?

อาจารย์นักประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ไม่มีการปฏิวัติที่ไหนในโลกทำให้เกิดประชาธิปไตย หรือจบทุกอย่างลงได้ในวันนั้นปีนั้น พลางยกตัวอย่างการปฏิวัติอเมริกา ที่แม้ประกาศสถาปนาชาติได้ในปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) แต่หลังจากนั้นยังมีสงครามกลางเมืองและการต่อสู้ตามมาอีกหลายระลอก

“ผมเชื่อว่าการปฏิวัติในประเทศไทยก็แบบเดียวกัน จากปี พ.ศ. 2475 มากระทั่งปี พ.ศ. 2555 กี่ปีแล้วล่ะ 80 ปี ผมคิดว่าจะมีกระบวนการที่ยาวมาก มันไม่จบนะ และพวกคุณจะได้เห็นการต่อสู้แบบไม่เคยมีมาก่อน 14 ตุลาคม 2516 มา 6 ตุลาคม 2519 มาพฤษภาคม 2535 มาพฤษภาคม 2553 ผมว่ามันเปลี่ยน มันลงไปถึงระดับล่างและไกลมากๆ แต่ก่อนอย่างดีก็บนถนนราชดำเนิน เดี๋ยวนี้ย้ายไปราชประสงค์ และย้ายไปอีกไกลมากๆ ผมว่ากำลังน่าสนใจ”

น่าสนใจถึงขั้นลากเอาเจ้าตัวให้กลับไปขุด-คุ้ย-ค้นวิทยานิพนธ์ หนังสือ ตำรา และบทความเก่าๆที่เคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขึ้นมาทบทวนความรู้ใหม่

โดยเฉพาะเมื่อได้รับ “คำขอ” ที่ยากต่อการปฏิเสธจาก “อำมาตย์” ใน “รัฐบาลไพร่”!
“เมื่อ 2-3 วันนี้ผมเปิดอีเมล์ มี 1 อีเมล์ที่ค่อนข้างจะแปลกใจ คือคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ มีจดหมายถึงผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผมนับถือ ผู้ใหญ่คนนั้นก็สั่งให้คนอีเมล์มาถึงผม บอกให้เสนอชื่อหนังสือมา 5 ชื่อ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองปฏิวัติ 2475 อันนี้น่าสนใจนะ ผมว่าหมอนี่เล่นเป็นนะ สงสัยนะ มันเล่นกับวงวิชาการนี่หว่า ก็น่าสนใจ ผมเลยส่งให้ ดร.ธงชัย (วินิจจะกูล) ตามระเบียบนะฮะ ให้อาจารย์ธงชัยเสนอกลับมา แล้วก็ส่งไปเรื่อยๆ ใช้ความเป็น ส.ว. เป็นคนสูงวัยส่งไปเรื่อยๆว่าจะคัดกี่เล่มส่งไปให้ท่านรัฐมนตรี”

ถือเป็น “บีฟอร์ช็อก” จาก “เสมา 1” ก่อน “สภาไพร่” จะลงมือสะกดปรากฏการณ์ “112 ริกเตอร์” จึงน่าสนใจว่ารัฐบาลจะใช้ประโยชน์อะไรจาก “คนในอดีต” และ “ประวัติศาสตร์หน้าเก่า”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชาญวิทย์เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหาได้เป็นปัญหาทางชนชั้นไม่ เพราะถ้าไล่ส่วนผสมใน “เสื้อเหลือง” และ “เสื้อแดง” จะพบความคล้ายคลึงทั้งด้านฐานะ การแต่งกาย กระทั่งยานพาหนะที่ใช้

“ผมชอบแอบไปดู ราชดำเนินผมก็ไปดูบ่อยๆ ราชประสงค์ผมก็ไปดูบ่อยๆ เอาเข้าจริงมันไม่ใช่ละ มันคลาส (ชนชั้น) เดียวกันเยอะเลยนะ เพียงแต่ว่าถ้าเราดูฐานะของแดงจะเป็นคนชนบทเยอะ และคนที่ผิวพรรณคล้ำ ส่วนการศึกษาน่าจะไม่ใช่ระดับกลางหรือสูง แต่ใช้ชนชั้นเคาะไม่ได้กับความขัดแย้งนี้ อาจจะใช่บางส่วน แต่รวมๆแล้วไม่ใช่ อย่างคนที่ขัดแย้งกัน ถามว่าระหว่างคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) กับคุณทักษิณ (ชินวัตร) ชนชั้นเดียวกันไหม ชนชั้นเดียวกัน ถ้าดูกลุ่ม แต่อันนี้ต้องขอนักรัฐศาสตร์หรือนักเศรษฐศาสตร์ช่วยในการมอง”

ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ “แว่นสายตา” ของ “นักวิชาการวัย 70 ปี” มองเห็นแต่ภาพความผิดเพี้ยนในสังคมจากการที่ “ปัญญาชน” ไม่เล่นบทปัญญาชน แต่หันไปแสดงบทนักการเมือง

จากการที่ “กวี” ไม่เล่นบทกวี เพราะขาดสุนทรีย์ในหัวใจ

จากการที่ “ผู้คน” มองทุกสรรพสิ่งเป็นเพียง 2 สี 2 ด้าน ไม่ขาวก็ดำ ไม่ดีก็ชั่ว

ที่สำคัญคือมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดระหว่างสงคราม 2 ขั้วอำนาจ

“ถ้าบ้านเมืองยังเป็นพิษ การเมืองเป็นพิษ มีสงครามที่คนอื่นก่อ ผมอาจจะมาขอลี้ภัยที่วิสคอนซิน” คือคำกล่าวทีเล่นทีจริงของอาจารย์ชาญวิทย์ขณะทักทายนักศึกษาในช่วงต้น ทว่ากลายเป็นปมที่ย้อนกลับมาเป็นคำถามในช่วงท้ายถึงการรับบท “หัวหอก” ท้าทายอำนาจที่มีการดำรงอยู่อย่างยาวนานของไทย

เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าคนชื่อ “ชาญวิทย์” จะถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์อย่างไร?

“ประวัติศาสตร์จะบันทึกผมว่าอย่างไร ก็ต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ที่จะบันทึก ผมก็ไม่รู้นะ...อันนั้นไม่ใช่ปัญหาของผม ตอนนั้นผมก็ไปแล้ว เราก็ไม่รู้แล้ว!!!”

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 385 วันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2555 หน้า 7 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย thaipublica.org

No comments:

Post a Comment