Sunday, May 26, 2013

Deadlock! สงครามยืดเยื้อในการเมืองไทย

นักสังเกตการณ์การเมืองไทยดูจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า การเมืองไทยกำลังเดินเข้าสู่จุดของความเป็น "deadlock"

หรือถ้าจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเมืองไทยกำลังก้าวสู่ภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะการเปิดการเมืองชุดใหม่ด้วยการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มองโกเลีย พร้อมๆ กับการเปิดเกมด้วยการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ศาลรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ



ซึ่งก็แน่นอนว่าเกมการเมืองชุดใหม่ครั้งนี้ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมซึ่งมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลมาอย่างเหนียวแน่นนั้น ยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน

และเรื่องราวเหล่านี้ยังถูกทับซ้อนด้วยข้อเสนอในการผลักดันกรณีกฎหมายนิรโทษกรรม ให้เป็นวาระแรกของการเปิดสภา อีกทั้งเรื่องราวของกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่แม้จะยังไม่ถึงขั้นตอนของการดำเนินการ แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ก็เปิดเกมต่อต้านเรื่องนี้มาโดยตลอด...

เรื่องราวเช่นนี้ย่อมจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายอนุรักษนิยมฉวยโอกาสผลักดันกระแสต่อต้านรัฐบาลให้พุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นโอกาสอันชอบธรรมที่จะทำให้กระแสดังกล่าวขยับตัวสูงขึ้น

เพราะหากวัดกระแสดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นในกรณีของ "ม็อบแช่แข็ง" หรือที่รู้จักกันว่า "ม็อบสนามม้า" แล้ว จะเห็นว่าเกิดสภาพของการ "จุดไม่ติด" หรือแม้ความพยายามที่จะก่อกระแสในช่วงของการปิดคำแถลงคดีกรณีปราสาทพระวิหาร ก็เห็นอาการ "จุดไม่ติด" ไม่แตกต่างกัน

ผลของการ "จุดไม่ติด" ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการประเมินว่า การคัดค้านรัฐบาลแม้จะดำรงอยู่ แต่ก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะก่อกระแสได้เท่าใดนัก

อีกทั้งยังเกิดการประเมินจากสถานการณ์จริงว่า การจะก่อกระแสต่อต้านรัฐบาลจนสามารถนำไปสู่การชุมนุมขนาดใหญ่ได้นั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริงก็ต่อเมื่อมีการสนับสนุนกำลังคนมาจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน

เพราะการจะหวังผู้เข้าร่วมชุมนุมจากคนชั้นกลางในเมืองแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงเท่าใดนัก



แต่แม้กระแสต่อต้านรัฐบาลจะมีการชะลอตัว ก็ใช่ว่าแกนหลักของกลุ่มต่อต้านเหล่านี้จะยุติบทบาทลงโดยสิ้นเชิง แต่ก็คงต้องยอมรับความจริงว่าการผลักดันให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่จะเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการสนับสนุนด้านทุน หรือการสนับสนุนด้านคน และก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายเหมือนเช่นในยุคก่อนรัฐประหาร 2549 หรือในยุคสะพานมัฆวานฯ 2551 อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีความหวังอยู่เสมอว่า หากมีการก่อกระแสที่จะทำให้การชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ ก็อาจส่งผลให้เกิดการปูกระแสไปสู่การใช้กำลังทหารในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

หรืออีกนัยหนึ่งเกิดการสร้างความชอบธรรมด้วยการอาศัยเสียงเรียกร้องให้กองทัพเป็นผู้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล

แต่เรื่องราวเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่นในปี 2549 อีกต่อไป



ความเป็นจริงของการเมืองไทยในอีกมุมหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยเสียงร้องตะโกนของคนบนถนน หรือด้วยอำนาจของรถถังมีข้อจำกัดมากขึ้น และอำนาจเช่นนี้กลับตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตุลาการ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้การเมืองไทยในอนาคตเป็นภาพสะท้อนของการต่อสู้ระหว่างสถาบันของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติกับสถาบันของตุลาการมากขึ้น ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งถึงความอ่อนแอของสถาบันนิติบัญญัติที่ยังไม่สามารถเป็นกลไกที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยของไทยได้เท่าใดนัก

และก็เพราะความอ่อนแอเช่นนี้แหละที่ทำให้การ "ถ่วงดุล" ในระบอบการเมืองไทยต้องเสียสมดุล

จนทำให้กลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมสามารถผลักดันให้สถาบันตุลาการกลายเป็น "ศูนย์อำนาจใหญ่" ของการเมืองไทย

และทั้งยังเป็นองค์กรสำคัญที่สามารถชี้ชะตาของพรรคการเมืองและนักการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณียุบพรรคไทยรักไทย กรณีแถลงการณ์ไทย-กัมพูชา-ยูเนสโก (หรือแถลงการณ์นพดล) หรือกรณีรายการทำอาหารของนายกฯ สมัคร เป็นต้น

ผลของการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายที่ถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหารจำเป็นต้องอาศัย "การเมืองมวลชน" (หรือที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์เรียกว่า "mass politics") เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ซึ่งก็ดูจะสอดรับกับความรู้สึกของมวลชนที่พวกเขาเชื่อว่ารัฐประหารเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการโค่นรัฐบาลที่พวกเขาเลือกตั้งมา

ประกอบกับความนิยมชมชอบในนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลงสู่คนชั้นล่างหรือบรรดารากหญ้าในสังคม ทำให้เกิดเสียงตอบรับอย่างมากต่อการเรียกร้องในการเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการใช้ "เสื้อแดง" เป็นสัญลักษณ์

แม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และผ่านการ "ล้อมปราบ" ใหญ่ถึง 2 ครั้งคือในปี 2552 และ 2553 พร้อมๆ กับการเสียชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าผลของการล้อมปราบด้วยการใช้กำลังทหารครั้งใหญ่ ก็ไม่สามารถทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด จนสามารถควบคุมการเมืองให้เป็นไปตามทิศทางของเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

และในขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดว่า หลังจากเปิดการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 กลุ่มที่ถูกโค่นจากการรัฐประหารและการยุบพรรคก็หวนกลับสู่อำนาจได้อีก

แม้กลุ่มอำนาจดังกล่าวจะกลับเข้าสู่การเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจในการเมืองอย่างสมบูรณ์

พวกเขาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะควบคุมการเมืองได้อย่างเต็มที่แต่อย่างใด

โดยเฉพาะภาพสะท้อนที่ชัดเจนก็คือ อำนาจในการควบคุมระบบราชการนั้น ยังมีความเปราะบางอยู่มาก โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการคุมทหารในระบอบการเมืองแบบการเลือกตั้งแต่อย่างใด



ดังนั้น คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า อาการที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก็คือ การเมืองไทยมีสภาพเป็น "deadlock" และดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถทำอะไรกับอีกฝ่ายหนึ่งแพ้อย่างราบคาบ จนสามารถสถาปนาอำนาจที่เบ็ดเสร็จของฝ่ายตนได้

ผลของสภาพเช่นนี้ก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองที่มีลักษณะเป็น "สงครามยืดเยื้อ" จนไม่มีใครกล้าทำนายว่า แล้วสงครามจะสงบลงเมื่อใด?

ถ้าการเมืองไทยมีลักษณะเป็น "deadlock" เพราะดุลอำนาจของแต่ละฝ่ายดูจะคานซึ่งกันและกันจนไม่มีใครเป็นผู้ชนะ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วจะคลายอาการชะงักงันเช่นนี้ได้อย่างไร

เพราะถ้าเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยในภาวะปกติแล้ว ถ้าเกิดอาการชะงักงันขึ้น ก็อาจจะแก้ไขได้ด้วยการยุบสภา แล้วคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน โดยให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องตัดสินว่า คนในสังคมจะเลือกหนทางการเมืองระบบใด หรือจะยอมรับในนโยบายแบบใด เป็นต้น

แต่ในภาวะที่ไม่ปกตินั้น การยุบสภาอาจจะไม่ใช่คำตอบโดยตรง เพราะหากมีการยุบสภาแล้วนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และรัฐบาลปัจจุบันประสบชัยชนะกลับเข้ามามีอำนาจใหม่ ก็ใช่ว่าอาการ "deadlock" แบบที่กำลังเกิดขึ้นจะหมดไป

แม้ว่าอาจจะพอคลายออกได้บ้าง แต่สภาวะเช่นนั้นน่าจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะดังได้กล่าวแล้วว่าการต่อสู้ทางการเมืองในเงื่อนไขปัจจุบันยังไม่นำไปสู่จุดที่เป็นจุดชี้ขาดได้แต่อย่างใด

ซึ่งก็น่าคิดอย่างมากว่า แล้วถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไร เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณเตือนว่า ระบบรัฐสภาเริ่มส่ออาการที่แก้ไขปัญหาภายในระบบของตัวเองไม่ได้!



ถ้าคิดแบบสุดโต่ง อาการที่เป็นภาวะชะงักงันเช่นนี้อาจจะทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมเห็นเป็นโอกาสได้ไม่ยากนัก เพราะแนวคิดแบบเดิมเชื่อเสมอว่า ถ้าเปรียบเทียบภาวะชะงักงันเป็นเหมือนกับ "ท่อตัน" แล้ว ก็มีความคุ้นเคยว่า อาการท่อตันเช่นนี้ควรจะให้ทหารเป็น "เทศบาล" เพื่อทำหน้าที่ล้างท่อ โดยเชื่อว่า การล้างท่อของกองทัพจะทำให้การเมืองตันเกิดอาการไหลคล่อง อันเป็นเสมือนกับการให้ผู้นำกองทัพเข้ามาเป็นผู้จัดการแก้ไขปัญหานั่นเอง

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การจะให้กองทัพเป็นเทศบาลล้างท่อแบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ง่ายนัก

เพราะด้านหนึ่ง การทำภารกิจดังกล่าวอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับเท่าใดนัก ยิ่งการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ที่มองว่า รัฐประหารเป็นความล้าหลังทางการเมืองด้วยแล้ว การยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ ย่อมจะถูกคัดค้านจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก

และในทางการเมืองภายในด้วยแล้ว การตัดสินใจแทรกแซงการเมืองด้วยการยึดอำนาจนั้น อาจจะกลายเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่อาจจะกลายเป็นจุดพลิกผันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ไม่ยากนัก เพราะอย่างน้อยสำหรับผู้คนบางส่วนก็เชื่อว่า หากเกิดสถานการณ์เช่นว่านั้น จะเป็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย

แต่ในอีกมุมหนึ่งสำหรับบรรดานักอนุรักษนิยมแล้ว การกระทำดังกล่าวก็อาจจะเป็นหนทางของการกวาดล้างรอบใหม่

ซึ่งก็น่าสนใจอย่างมากว่า ต่างฝ่ายต่างก็มองเห็นว่าสถานการณ์ของการปลดอาการชะงักงันด้วยการแทรกแซงของทหาร อาจจะเป็นหนทางของการทำให้เกิดชัยชนะอย่างเด็ดขาดได้ แม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายทางการเมืองสูงมากก็ตาม

แต่ถ้ากลุ่มอนุรักษนิยมไม่สามารถผลักดันให้เกิดการแทรกแซงของกองทัพได้แล้ว การแก้อาการ "ท่อตัน" ในอีกด้านหนึ่งก็อาจจะต้องยอมรับให้เกิดการต่อสู้แบบแตกหักในการเมืองไทย ซึ่งก็หมายถึงค่าใช้จ่ายทางการเมืองที่ต้องจ่ายย่อมจะมีมูลค่าสูงเช่นกัน

เพราะการต่อสู้แม้จะไม่แตกหักเช่นการชุมนุมในเดือนเมษายน 2552 หรือกรณีเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็มีการสูญเสียอย่างมาก และจนถึงวันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่ยังจบไม่ได้



ดังนั้น หากจะต้องต่อสู้กันแบบ "สงครามครั้งสุดท้าย" แล้ว โดยมีความหวังว่าผลที่เกิดขึ้นจะทำให้ฝ่ายตนเองมีชัยชนะจนสามารถสถาปนาการเมืองในแบบที่ตนเองต้องการได้นั้น แม้อาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ต้องตระหนักเสมอว่า หนทางนี้มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นเดียวกัน

และยังต้องถามสังคมไทยเองด้วยว่า สังคมมีความพร้อมกับการต่อสู้ทางการเมืองแบบแตกหักเพื่อสถาปนาอำนาจการเมืองแบบ "ผู้ชนะ" หรือไม่?

แต่ถ้าคิดว่าการยึดอำนาจของกองทัพหรือการต่อสู้แบบแตกหักมีรายจ่ายทางการเมืองมากเกินไปแล้ว การเมืองไทยก็น่าจะเหลือทางออกเพียงประการเดียวคือ การประนีประนอมเพื่อประคับประคองให้ระบบการเมืองที่เป็นอยู่นั้นสามารถดำเนินอยู่ต่อไปได้

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่า การเลือกหนทางของการประนีประนอมนั้น ใช่ว่าจะเป็นเรื่องของความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่างกันในทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะต้องคิดถึงช่องทางของการติดต่อสื่อสารที่ทำให้ข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายนั้นได้รับการตอบรับในระดับที่ไม่เป็นในแบบ "ผู้ชนะได้หมด" (หรือที่เป็นภาษาอังกฤษว่า winner takes all) ซึ่งก็ดูจะไม่ง่ายนักในสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในขณะนี้แล้ว ก็เห็นได้ว่าการประนีประนอมของแต่ละฝ่ายดูจะเป็นไปได้ยากมากขึ้น

เรื่องเช่นนี้ใช่ว่าจะสะท้อนจากการด่าทอที่เกิดขึ้นอย่างสาดเสียเทเสียเท่านั้น หากแต่จะเห็นได้ถึงการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันอย่างมาก จนกลายเป็น "การเมืองของความเกลียดชัง" และทำให้มองไม่ออกว่าถ้าจะต้องประนีประนอมกันจริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของการประนีประนอมจะเริ่มขึ้นจากเรื่องอะไรและอย่างไร เพราะจนถึงวันนี้เห็นได้ชัดว่า การเมืองไทยยังหาจุดของการประนีประนอมไม่ได้

ถ้าการทำรัฐประหารอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เท่าๆ กับการต่อสู้อย่างแตกหักก็ยังมองไม่เห็น หรือการประนีประนอมก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การเมืองไทยก็คงต้องอยู่ในภาวะชะงักงันต่อไป

หรืออีกนัยหนึ่งการต่อสู้ในการเมืองไทยจะยังคงเป็น "สงครามยืดเยื้อ" ที่ยังจะดำเนินต่อไป โดยยังไม่มีผู้ชนะที่ชัดเจน และรอเวลาที่จะมีประเด็นการเมืองใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถหยิบฉวยขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเวทีการต่อสู้นี้!


โดย สุรชาติ บำรุงสุข ที่มา มติชน

No comments:

Post a Comment