การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
แต่วันนี้ต้องชะงักงัน รัฐบาลเตรียมผลักดันการทำประชามติเพราะหวั่นการเดินหน้าโหวต
วาระ 3 แก้ไขมาตรา 291
จะเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายและอาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหา
วิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์
สะท้อนมุมมองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
ประเมินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร
จะคลี่คลายปัญหาการเมืองได้หรือไม่
ผมคิดว่าถ้าไม่แก้ที่โครงสร้างก็จะถูลู่ถูกังกันไปแบบนี้
ตอนนี้เป็นเพียงการยืดเวลาออกไป แต่วันหนึ่งปัญหาจะปะทุขึ้น
รัฐบาลอาจบอกว่าแก้เป็นบางมาตราอาจลดทอนพลังของฝ่ายตรงข้ามลงไปได้บ้าง
หรือยอมให้ถูกดันมาสุดทางแล้วค่อยโต้ เพื่อจะได้ใจคนอีกจำนวนหนึ่ง
แต่ผมประเมินว่าคงออกไปในเชิงประนีประนอมอยู่ดี (หัวเราะ)
ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้
การประนีประนอมในหมู่ชนชั้นนำนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้แล้ว
สุดท้ายต้องกลับมาถกเถียงกันบนหลักการที่มันถูกต้องแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยหลักการ
ไม่เช่นนั้นไม่จบ
ทุกขั้นตอนของการพัฒนาประชาธิปไตยในโลก
เลี่ยงไม่พ้นการชนกัน ใครฝันหวานว่าจะปรองดอง มันเป็นไปไม่ได้
ตอนนี้เราต้องทำให้คนที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจให้มากที่สุด
ผมคิดว่าการที่คนสว่างขึ้น
เห็นเหตุและผลมากขึ้นจะช่วยลดการสูญเสีย
ในแง่หนึ่ง
ผมคิดว่ารัฐบาลอาจต้องได้รับบทเรียนบ้าง ถ้าคุณไม่กล้าดำเนินการไปตามหลักการ
คุณจะเจอกับดักทุ่นระเบิดในรัฐธรรมนูญปี"50
ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลพยายามทำตามหลักการแล้ว
แต่ผมมองว่ายังน้อยมาก
ผมอยากให้มองคนอีกจำนวนหนึ่งที่เขาเสียสละ
บางคนสละชีวิต รัฐบาลต้องคิดถึงคุณค่าและหลักการเหล่านี้บ้าง
อย่าคิดทำการเมืองแค่รักษาอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ตอนนี้เป็นช่วงจังหวะและโอกาส
การพยายามเข้ากระทำ มันมีอยู่ตลอดเวลา เหมือนการยิงประตู เมื่อมีจังหวะเขาก็ต้องยิง
ดังนั้น รัฐบาลต้องรู้ว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการรุกไปข้างหน้า
แต่คนกุมยุทธศาสตร์กลับไม่ทำ
สิ่งที่ทำอยู่วันนี้ผมมองว่าสังคมโดยรวมไม่ได้อะไร อย่างดีก็ยกเลิก มาตรา
237 เรื่องการยุบพรรค
มวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลและองค์กรอิสระจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นหรือไม่
มวลชนด้านนั้นอ่อนแรงไปเยอะ
เนื่องจากประเด็นที่เขานำเข้าสู่สาธารณะไม่ค่อยมีเหตุผล เว้นแต่จะมีเหตุอื่นแทรก
เช่น รัฐบาลมีทุจริตมาก หรือมีเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ
ส่วนองค์กรอิสระ
ผมว่ามีอยู่แล้ว
เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะมากหรือน้อยต้องแตะโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของเขา
ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะทำแค่ไหน
ถ้าทำแบบไอเดียของผมคือปรับใหญ่เลย กรณีศาล เป็นการปฏิวัติระบบทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง
แต่รัฐบาลคงไม่ไปถึงขั้นนั้น อาจแตะแค่บางส่วน แต่คนพวกนี้พอไปแตะเขาจะอยู่เฉยๆ
หรือ เป็นไปไม่ได้ เขาคงไม่ยอม
คนเสื้อแดงบางส่วนต้องการเพียงรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่
ถือว่าเพียงพอหรือไม่
ไม่พอ
ผมเข้าใจคนเสื้อแดงเพราะมันบ่งชี้ถึงตัวพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
ที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งหลังการเลือกตั้งปี"44 นโยบายต่างๆ
ที่รัฐบาลทำ
ได้ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมต่อชีวิตของเขา
แต่การเอารัฐธรรมนูญปี"40 กลับมา
มันไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด เราต้องการอะไรที่ใหม่กว่านั้น
แต่ตอนนี้เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญปี"40 แล้วเจรจากันอย่างหนัก
จนองค์กรต่างๆ
ยอมกันได้และยังอยู่ต่อไป
แต่ถ้าเขารู้ว่าหากโครงสร้างใหญ่ของสังคมเปลี่ยนจริงๆ
ตัวเขาและลูกหลานจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น
มันจะเกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง
ข้อเสนอนิติราษฎร์ทุกข้อ
รัฐบาลสามารถหยิบไปใช้ได้หรือไม่
ได้ทุกข้อ แต่รัฐบาลไม่หยิบไปใช้เลย
นิติราษฎร์เสนอในทางหลักการ ซึ่งมีความแหลมคมในเชิงประเด็น
แต่รัฐบาลก็อยากรักษาอำนาจรัฐไว้ให้นานที่สุด ด้วยเหตุผลหลายประการ
ภาพของนิติราษฎร์หลายคนมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล แต่ความจริงไม่ใช่
รัฐบาลหนีนิติราษฎร์สุดชีวิต เรามีกันอยู่ 7 คน
เป็นอาจารย์ธรรมดาที่ไม่มีตำแหน่งบริหาร
ผมพยายามอ่านความคิดของ
ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส่วนหนึ่งเองไม่อยากแก้ เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่
เลือกตั้งก็ชนะแล้วจะไปเรียกแขกทำไม
อีกพวกหนึ่งคิดว่าต้องปรับโครงสร้างอำนาจที่มันผิดหลักการประชาธิปไตย
จึงต้องแก้ แต่ก็มีพวกที่ไม่แก้ คิดว่าค่อยไปแก้ใกล้ๆ จะครบ 4 ปีก็ได้
หรือรอเลือกตั้งแล้วค่อยถามประชาชนอีกทีว่าจะแก้หรือไม่
ในอนาคตจะเข้าไปช่วยปฏิรูปการเมืองหรือไม่ เช่น เป็น ส.ส.ร.
ผมไม่ได้อยากเป็น ส.ส.ร. ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นแบบที่เป็นอยู่
ผมขอแสดงความคิดดีกว่า ได้สอนหนังสือมีความสุขแล้ว
แต่ถ้าวันหนึ่งจะปฏิรูปกันทั้งระบบผมจะเข้าไปทำโดยไม่ลังเล
สำหรับผมถ้าจะทำรัฐธรรมนูญให้เป็นหลักกับบ้านเมืองต้องไม่มีเพดาน
หรือถ้ามีเพดานอย่างมากที่สุดตามข้อจำกัดรัฐธรรมนูญคือ เป็นรัฐราชอาณาจักร
เป็นประชาธิปไตยและเป็นรัฐเดี่ยว แต่มากกว่านี้ผมว่าเพดานเยอะเกินไป
วันนี้หลายคนตั้งป้อมว่าถ้าผมเข้าไป ผมจะไปรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550
ซึ่งยอมรับว่ารื้อแน่
แต่ก็รู้สึกว่ารัฐบาลวางกรอบแคบเกินไปในการแก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ
นักวิชาการนิติศาสตร์จะถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ฝ่ายอำนาจนอกระบบอีกหรือไม่
ใช้ได้และยังจะใช้อยู่
เป็นเรื่องโครงสร้างกับผลประโยชน์ เขาไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิด
บางคนคิดว่าที่ทำไปเป็นความดี ได้ขจัดทุนนิยมสามานย์ เพราะยังเชื่ออย่างนั้นกันอยู่
ด้านหนึ่งเป็นอุปาทานหมู่หลอกตัวเอง ลองไปดูว่าได้ตำแหน่งอะไรกันบ้าง
ขอให้เอารายได้หลังรัฐประหารมา บวกดูแต่ละเดือน แล้วเทียบกับของผม
กล้าหรือไม่
ตอนดีเบตรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บ้านมนังคศิลาเมื่อ 5
ปีก่อน บอกว่าการแก้สามารถทำได้ง่ายๆ แต่ตอนนี้บอกต้องทำประชามติก่อน มันแปลว่าอะไร
หลอกให้รับไปก่อนใช่หรือไม่ พอจะแก้ก็ยาก
เมื่อรัฐบาลมีเสียงพอจะแก้ได้ก็เอาเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นสรณะ
การแก้ไข ม.112
นับจากจุดนี้ยังสามารถเคลื่อนไหวอะไรได้อีกหรือไม่
วันที่ 15
ม.ค.นี้ จะครบรอบ 1 ปี ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.)
คงจะเคลื่อนไหวโดยการโต้แย้งคำสั่งประธานรัฐสภาที่ไม่บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุม
ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัย
แล้วรอดูว่าจะเป็นอย่างไร
เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องการเมือง
สมมติว่าการเมืองเอาด้วยมันก็ขยับ แต่ถ้าการเมืองไม่เอาก็ยาก ประชาชน ครก.
หรือนิติราษฎร์ ไม่ใช่บุคคลที่ทรงอำนาจทางการเมือง
คนที่ตัดสินทางการเมืองได้คือฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่การที่ปัดตกโดยไม่เอาเข้าวาระการประชุมอย่างนี้ไม่ถูก
ใช้อำนาจมากไป และยังอธิบายไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพตรงไหน ดังนั้น
ควรนำเข้าวาระการประชุมเพื่อให้เกิดการอภิปรายอย่างมีเหตุผล
ถ้าเราเห็นตรงนี้ว่าถูกต้อง
ก็ต้องผลักให้มันไปข้างหน้า คนที่ยืนอยู่ตรงนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญมากมาย
คนที่กล้าหาญมากๆ และเสียสละคือคนธรรมดาที่ตายไปเท่าไรแล้วก็ไม่รู้
คุณแค่รักษาหลักการเบื้องต้นพอแล้ว
ปีนี้จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์หรือไม่
ต้องดูฟ้าฝนก่อน
ถ้าวันฝนตกปรอยๆ ยังพอได้ แต่หากพายุฝนฟ้าคะนองแบบนี้มันจะลำบาก
อีกอย่างเราไม่มีเกราะอะไรทั้งสิ้น นี่คือปัญหาของคนที่ทำงานวิชาการในประเทศนี้
อย่างผมทำงานเป็นนักกฎหมายมหาชน เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้
พอถึงจุดหนึ่งเราก็เศร้าใจว่าการคิดทางวิชาการให้มันถึงระดับสากลทำไม่ได้
มีข้อจำกัดหลายเรื่อง
โดยเฉพาะเรื่องของอุดมการณ์นั้นเปลี่ยนยากที่สุด
ใครกุมตรงนี้ได้คือคนที่ชนะทางการเมือง
ตอนนี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยในสังคมเรายังไม่ชนะ
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพยายามพูดอยู่ตลอดเวลา
ที่มา
มติชน
No comments:
Post a Comment