Tuesday, December 25, 2012

เลือดท่านเย็นยะเยียบทีเดียว

จะว่าไป การอยู่ในประเทศไทยแลนด์นั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้กันมาตามลำดับของการเจริญทางสติกอปรด้วยปัญญาคือการเรียนรู้ว่าอย่าไปอินังขังขอบกับการมอบ"รางวัล" ใดๆ ในประเทศนี้

ไม่เพียงแต่ไม่อินังขังขอบ เรายังเรียนรู้ว่าใครก็ตามที่ได้รับรางวัลอะไรสักอย่างในประเทศนี้ มันแสดงให้เห็นว่ารางวัลนั้น และคนผู้นั้นชักจะมีอะไรไม่ชอบมาพากล หรือพูดให้ง่ายลงว่า คนผู้นั้นคือคนที่ "เขา" อยากขอไปเป็นพวก หรือ คนผู้นั้นได้ไปเป็นพวกของ "เขา" แล้ว


จากประสบการณ์ เราได้เห็น "คน" เปลี่ยนพวก เปลี่ยนข้าง เปลี่ยนอุดมการณ์ เพราะหวังรางวัลกันมาก็มาก บ้างก็รู้ตัวบ้างก็ไม่รู้ตัว

รางวัลเหล่านั้นอาจไม่ได้นำมาซึ่งทรัพย์ศฤงคารโดยตรงแต่ก็นำมาซึ่งวิถีแห่งการไหลมาเทมาของศฤงคารนั้นๆเพราะมันเอาไปหลอมให้คนเชื่อถือไว้ใจเป็นต้นทุนทางสังคมที่ล้ำค่ายิ่งสำหรับสังคมที่บูชาโล่ ประกาศนียบัตร และถ้อยแสดงเกียรติคุณอย่างฟุ้งเฟ้อ

เราอยู่ในสังคมที่ยกย่องผู้คนกันที่ 

- หูย เขาจบจากอ๊อกซ์ฟอร์ดเชียวนะ จะมาว่าเค้าหนีทหาร สั่งใช้กระสุนจริง ไม่เข้าใจประชาธิปไตยได้ยังไง เค้าไม่ใช่พวกโกงบ้านโกงเมืองนะ หูย นี่เขาได้รางวัลกวีแห่งชาติเชียวนะ เพราะฉะนั้น เขาต้องเป็นคนดีแน่ๆ

- หูยนี่ ต้นตระกูลเค้ารับใช้ชาติมาหลายชั่วคน เป็นไปไม่ได้ที่เค้าจะทำอะไรไม่ดี

- หูยนี่ คนนี้เค้าบริจาคเงินตั้งเยอะ คนดีๆ แบบนี้หายาก

- หูยนี่ เค้าได้รับรางวัลส่งเสริมมนุษยชนดีเด่นเชียวนะ เราต้องศรัทธาสิ่งที่เค้าทำนะ ถ้าเค้าเป็นคนไม่ดี จะได้รางวัลได้ไง ฯลฯ


(เอ๊ะ คำว่า ตรรกะ สะกดยังไงเหรอ?)


แม้จะเรียนรู้ว่าไม่ต้องไปอะไรนักหนากับรางวัลที่ประเทศนี้เค้ามอบให้กัน ไปอวยกันเองเออกันเอง แต่สำหรับรางวัลเกียรติยศ "ผู้ส่งเสริมมนุษยชน" ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบให้แก่ นายวีระ สมความคิด, พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี), พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ นั้นเป็นที่กังขาของสังคมเป็นอย่างยิ่ง

อีกสองท่านคือ นางอรุณี ศรีโต และ นางสายสุรีย์ จุติกุล-ซึ่งหากคณะกรรมการสิทธิฯ อยากให้รางวัลของท่านเป็นรางวัลระดับกรม, กอง แจกๆ กันให้หมดหน้าที่ แจกกันเงียบๆ รู้กันสัก 15 คน เป็นข่าวสัก 2 นาที ไม่มีบทสนทนา ชื่นชม หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีความเห็นบวกหรือลบตามมา เรียกว่าให้แล้วเท่าทุน การมอบรางวัลให้คุณอรุณี หรือคุณสายสุรีย์ ก็ดูเหมาะสม เข้าเป้า

แต่ดูเหมือนคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้อยากเข้าเป้าแต่อยากล่อเป้า หวยจึงมาออกที่บุคคลสามท่านที่สังคม-อึ้ง-ว่า เอ่อ...เป็นผู้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร?

อย่าลืมว่าการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เป็นคนใจบุญ ชอบเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ช่วยหมาจรจัด ทำงานอาสาสมัคร บำเพ็ญประโยชน์ เป็นอาสาสมัครกู้ภัย หรือมีความชำนาญในการผ่าศพ ฯลฯ แล้วมันจะทำให้คุณเป็นนักส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยอัตโนมัติ

การที่องค์กรธุรกิจหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายมือถือ หรือขาย "สุขภาพจิต" การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรผ่านการทำการกุศลหรือทำประโยชน์แก่สาธารณะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่อง win-win องค์กรได้ภาพลักษณ์ สังคม (เชื่อกันว่า) ได้ประโยชน์

องค์กรนั้นอาจจัดงานดนตรี กวี ศิลปะ รับบริจาคหนังสือ แจกหนังสือ ทำห้องสมุด สุดท้ายได้ชื่อว่า โอ้ววว ช่างเป็น "คนดี" จังเลย พอเป็นคนดี ครานี้จะขายอะไร ราคาเท่าไหร่ คนก็ไม่เกี่ยงที่ซื้อเพราะเชื่อว่า "กำไร" นั้นจะกลับคืนสู่ชุมชน สู่สังคม (อย่างน้อยก็เชื่อ)

แต่ลำพังการทำการตลาดแบบนี้คงไม่พอที่จะทำให้ได้รางวัลส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เว้นแต่กิจกรรมดนตรี กวี ศิลปะ ที่เขาจัดนั้นมีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อสิทธิของเพื่อนมนุษย์ที่ถูกละเมิดอย่างเอาจริงเอาจัง

แต่เท่าที่เห็น ดนตรี กวี ศิลปะ และหนังสือในกิจกรรมเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งของการ "ละเมิด" สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศเสียด้วยซ้ำไป

ไม่เพียงแต่การ "ทำความดี" จะไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการ "ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" การที่ใครคนใดคนหนึ่งไม่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาคนนั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนยอดเยี่ยม

เพราะมิเช่นนั้นเราต้องให้รางวัลแก่ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะทุกคนที่ปฏิบัติตามกฎจราจรและไม่ดื่มสุราขณะขับรถ!

ก่อนจะดูรายชื่อรางวัลล่อเป้าของคณะกรรมการสิทธิฯเรามาทบทวนกันหน่อยดีกว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร? ทำไมมันจึงสำคัญ

มันสำคัญมานานหรือยัง หรือว่าเพิ่งจะสำคัญ?

จะเปิดกี่ตำราก็จะเขียนตรงกันว่า : สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด เป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลนั้นมีความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อการใช้ชีวิต และโดยสิทธิเหล่านี้จะไม่มีใครสามารถมาพรากไปจากบุคคลนั้นๆ ได้

นอกจากนี้ อาจจำแนกเป็น สิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม

ดังนั้น เราจึงได้ยินกันอยู่เนืองๆ ว่า คนคนหนึ่งเกิดมาย่อมมีสิทธิที่จะเชื่อ จะนับถือศาสนา จะธำรงไว้ซึ่งความเชื่อทางการเมืองของตนเอง จะทำมาหากินอย่างไม่ถูกกีดกัน มีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีใครมากล่าวโทษว่า "สมน้ำหน้า อยากกินลูกชิ้นผสมบอแรกซ์มากจนเป็นมะเร็ง แล้วต้องมาเข้าโรงพยาบาลผลาญเงินภาษีประชาชนคนอื่น"

(สำหรับบางประเทศเขาบ่นว่าพวกกินเหล้า สูบบุหรี่นี่เป็นภาระในการรักษา ดูแล แทนที่หมอ จะไปดูแลคนป่วยคนอื่น ต้องมารักษามะเร็งปอด มะเร็งตับให้ขี้เหล้า แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครตั้งคำถามว่า แล้วถ้าคนป่วยคนนั้นเป็นคนไม่กินเหล้าสูบบุหรี่เลยแต่เป็นนายหน้าค้ามนุษย์ หมอจะพูดอย่างเดียวกันหรือไม่ว่า-ทำไมต้องมานั่งเสียเวลารักษาโรคให้อาชญากร?)

ความหมายอย่างเป็นทางการนี้มีขึ้นเมื่อสมัชชาสหประชาชาติประกาศรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนวันที่ 15 ธันวาคม 2491

ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยปี 2491 ยังจับไข่ล้มต้มไข่กินเพราะการรัฐประหารปี 2490 ไม่ต้องพูดถึงว่าเราได้บรรจุเอาความหมายของคำว่าสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "อัตลักษณ์" รัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ เพราะในเวลานั้น ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเวลาของการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอุดมการณ์สองกลุ่ม

คือกลุ่มที่มั่นใจในลัทธิรัฐธรรมนูญกับกลุ่มที่พยายามจะบอกประชาชนว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกพระยาพหลฯ และพยายามทุกวิถีทางที่จะล้มรัฐธรรมนูญ และเราก็ล้มมาได้สำเร็จเรื่อยมา จนเป็นประเทศที่เขาบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยนะ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มีการเลือกตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

มีไรป่าววว?

เหตุที่นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็เพราะหา "คนดี" ไม่ได้ นักการเมืองมีแต่เลวๆ ขืนให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งประเทศชาติก็ล่มจมกันพอดี อีกประการหนึ่งประชาธิปไตยเสียงข้างมากไม่เหมาะกับประเทศไทย คนไทยยังโง่อยู่ มีโจรมากกว่าพระ จะให้เสียงข้างมากชนะก็เป็นโจราธิปไตย-แย่จุงเบย-อย่ากระนั้น เรามาเป็นธรรมาธิปไตยกันดีกว่าพี่น้อง

สิทธิมนุษยชน? อร้ายยย นั่นมันของฝรั่ง ไม่ต้องไปลอกเขามา เรามีสิทธิมนุษยชนแบบไทย ไพร่ฟ้าหน้าใส มีอะไรไปสั่นกระดิ่ง ผู้ปกครองเราดูแลทุกคนทั่วหน้าไม่เลือกยากดีมีจน เรามีผู้ปกครองดีแบบนี้เลยไม่ต้องฆ่าฟันกันจนต้องประกาศสิทธิมนุษยชนแบบฝรั่ง เพราะคนไทยจิตใจดีงาม เอื้อเฟื้อ ประนีประนอม แล้วเราพากันฝ่าวิกฤตการณ์มาได้เพราะผู้นำเราเก่ง ฉลาด เพราะฉะนั้น ให้กลับไปดูหลักการสิทธิมนุษยชนของเราตั้งแต่สมัยสุโขทัยเลย ใครก็สู้เราไม่ได้ 

สอนกันมาแบบนี้ พอเด็กอ้าปากจะถามเรื่องการเกณฑ์แรงงาน ระบบมูลนาย ไพร่ทาส สิทธิเหนือร่างกายของ "มนุษย์" ที่สังกัด "รัฐ" โบราณเหล่านั้นว่าหากมีคอนเซ็ปต์ว่าด้วยสิทธิไฉนผัวจึงขายเมียได้ พ่อขายลูกได้ ตกลงใครเป็นเจ้าชีวิตใครบ้าง?

ถามมากเข้าก็จะโดนเอ็ดกลับมาว่า-บอกว่าอย่าไปเอาหลักการของฝรั่งมาใช้กับของเรามันไม่เหมือนกันพวกเธอนี่รู้ครึ่งๆ กลางๆ เรื่องไทยก็ไม่รู้ เรื่องฝรั่งก็ไม่กระจ่าง ไปดูสิระบบทาสไทยกับทาสฝรั่งต่างกันราวฟ้ากับเหว ระบบมูลนายกับระบบฟิวดัลของฝรั่งมันเหมือนกันที่ไหน!

กว่าคำว่า "สิทธิมนุษยชน" จะได้ลงหลักปักฐานในเมืองไทยก็เมื่อเรามีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก มีประชาธิปไตยเต็มใบกับเขาเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 2530

มีเพื่อจะได้ตอกย้ำกันอีกคราว่า เป็นไงเล่า ประชาธิปไตยเต็มใบมันนำมาซึ่ง บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ตไงจ๊ะ ทหารออกมาทำรัฐประหารกันเถิดจะเกิดผล

การต่อต้านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2535 และรัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะเป็นครั้งแรกที่สิทธิมนุษยชนต้องกลายมาเป็นแก่นสารที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ

แต่กระนั้น ด้วยความที่เชื่อว่าชาวบ้านยังโง่ รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงผลิตองค์กรอิสระมากมายตามกลุ่มอาการหวาดกลัว "การเลือกตั้ง" หวาดกลัว "ดุลยพินิจของประชาชน" องค์กรอิสระอันยุ่บยั่บนี้ไว้เพื่อถ่วงดุลนักการเมืองเลวที่ประชาชนเลือกมาเพราะยังโง่ ยังถูกนักการเมืองหลอก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีขึ้นด้วยปรัชญาว่าด้วยการประกันสิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดจึงเป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง!!!!ที่ไม่มีการถ่วงดุลจากเสียงของประชาชนเลยแม้แต่น้อย (ที่มาของคณะกรรมการก็ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้วนี่หว่า)

ทว่า ตอนนั้นพวกเราต่างไม่มีใครเฉลียวใจ เพราะถูกล้างสมองมานานว่า เฮ้ยยยย ท่านๆ พวกนี้ ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เล่นพวกเหมือนพวกมาจากการเลือกตั้ง อู๊ยยยย เค้าต้องเลือกเอาแต่คนดีๆ น่านับถือมาทั้งนั้นแหละ อีคำ อีศรี อย่างเราจะไปรู้อาร้ายยย

ค่ะ อีคำ อีศรี อีแจ๋ว อย่างเราจะไปรู้อารายย จนกระทั่งมีการทำรัฐประหาร จนกระทั่งมีการล้มการเลือกตั้งด้วยการบอยคอต จนกระทั่งมีการสังหารประชาชนด้วยอาวุธสงครามแล้วคณะกรรมการสิทธิฯ ท่านนั่งเป็นเบื้อใบ้ นั่งสวยๆ นั่งนิ่งๆ

อ้อ ท่านไม่นิ่งบ้างเป็นบางครั้ง เช่น ท่านเดินทางไปแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวิถีทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

โอ้วท่านทำหน้าที่ของท่านยอดเยี่ยมมากค่ะ

มีนักโทษการเมืองเต็มคุก โดนจับกุมคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม โดนขังทั้งที่คดียังไม่ตัดสินจนถึงที่สุด นักโทษการเมืองถูกใส่ตรวน นักโทษที่ต้องคดีที่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองตายในคุก ท่านก็ยังนั่งสวย ไม่สวยเปล่า เลือดท่านเย็นยะเยียบทีเดียว

แล้วท่านก็ลุกขึ้นมาตบหน้าประชาชนด้วยเลือดอันเย็นยะเยียบของท่านด้วยการประกาศรางวัลแก่บุคคลที่สนับสนุนการใช้เครื่องตรวจจับระเบิดกำมะลอไม่นับผลงานชันสูตรศพกำมะลอหลังการสลายการชุมนุม (โปรดดูคลิปการตรวจกระสุนพยาบาลกมลเกด)

ท่านประกาศรางวัลแก่คนที่ปลุกเร้าให้เราต้องขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยสำนึก patriotic อันล้าหลัง การกระทำของเขานำมาซึ่งสงครามชายแดน สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ท่านมอบรางวัลให้กับเจ้าของวาทะ "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" โดยที่ท่านมิได้เฉลียวใจว่าการฆ่าเวลานั้นเป็นบาปไปตั้งแต่เมื่อไหร่????


การที่ท่านนั่งเป็นกรรมการสิทธิฯโดยมิได้ปกป้องสิทธิของมนุษย์นั้นถือว่าท่านนั่งฆ่าเวลาอยู่หรือไม่? และบาปหรือเปล่า?

หรือการนั่งเฉยของท่านนำมาซึ่งการฆ่า สิ่งนั้นบาปหรือไม่?

แต่เอาล่ะ เราจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไรว่าทำไมการถักโครเชต์ฆ่าเวลาของฉันจึงบาปกว่าการฆ่าคนไปได้ ไม่นับว่าวาทะนี้เปล่งออกมาในช่วงที่ความขัดแย้งรุนแรงของการเมืองไทยกำลังพุ่งขึ้นสูงสุด

และบุคคลเดียวกันนี้ได้กล่าวว่า"คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องหนทางพ้นทุกข์" 

วาทะนี้เป็นอุปสรรคต่อหลักการประชาธิปไตยที่ยึดเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นหลักเพราะกำลังใช้โวหารลวงว่า "คนส่วนใหญ่" คือคนไม่มีปัญญา เป็นพวกดาดๆ พื้นๆ

ในขณะที่คนมีปัญญาย่อมมีจำนวนน้อยกว่า ทำในสิ่งที่ฉลาดกว่าคือไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชน แต่สนใจหนทางพ้นทุกข์!

หากท่านเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ซื่อตรงต่อหลักการของสิทธิมนุษยชนท่านจะมอบรางวัลให้กับเจ้าของวาทะที่เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งเป็นอุปสรรคต่อหลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ได้อย่างไร?เพราะคำว่าหนทางพ้นทุกข์นั้นกำกวมและเปิดทางให้เจ้าของวาทะกล่าวอ้าง บิดพลิ้วไปต่างๆ นานาตามสถานการณ์และกลุ่ม "เป้าหมาย" ในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างไม่มีวันอับจน

ขอยอมรับ ณ บรรทัดนี้ว่า ต่อการดำรงอยู่ในตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่กินภาษีประชาชนถึงปีละเกือบสองร้อยล้านบาท พวกท่านช่างมีจิตใจที่ "เย็น" และมีดวงหน้าที่ "แกร่ง" มากเหลือเกินในการคัดเลือกบุคคลมารับรางวัลของท่าน

โดย คำผกา ที่มา มติชน

No comments:

Post a Comment