Thursday, April 19, 2012

เจาะใจ"วรเจตน์"

การแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ เป็นเรื่องล่อแหลม กระทั่งแกนนำอย่างนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกระแสต่อต้าน

ไม่ว่าคำสั่งของมหาวิทยาลัยที่ห้ามเคลื่อน ไหวจัดกิจกรรม และการถูกลอบทำร้ายในลานจอดรถธรรมศาสตร์




แต่ระยะหลังการเคลื่อนไหวเริ่มเงียบหาย โดยนายวรเจตน์ใช้เวลาไปกับการสอนหนังสือ

จนเมื่อโพลเกือบทุกสำนัก รวมถึงผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้า ระบุตรงกันว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นต้นเหตุความขัดแย้ง สวนเส้นทางปรองดอง

นายวรเจตน์จึงให้สัมภาษณ์พิเศษแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ตลอดจนทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มไว้ดังนี้



การแก้มาตรา 112 คือต้นเหตุความขัดแย้ง

หากเรากังวลประเด็นนี้ การแก้ไขเปลี่ยน แปลงตัวบทกฎหมายในบ้านเมืองคงทำไม่ได้ และคงปล่อยให้ปัญหาสะสมเอาไว้ วันนี้ปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมีหลายเรื่อง ต้องพิจารณาว่าเกิดจากจุดไหน

หากเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยหลักการต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ควรเอาเรื่องความขัดแย้งมาเป็นเกราะกำบังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ในสังคม

ผมเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในพรรคการเมือง เห็นว่าเป็นเพียงการเสนอความเห็นออกไปสู่สาธารณะเท่านั้น เป็นเรื่องที่กระทำได้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อมีคนเห็นด้วย อยากจะผลักดันให้เป็นกฎหมาย เราก็ช่วยทำให้

อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำอะไร ที่พ้นไปจากกรอบที่กฎหมายกำหนดเลย

ที่คนมองว่าการเดินหน้าเรื่องนี้ไม่เหมาะสมนั้น เป็นเรื่องของการประเมิน คนที่ประเมินแบบนี้ต้องเคารพคนอื่น ผมเคารพคนอื่นในแง่ที่ว่าเมื่อมีคนไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิ์ออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วย

แต่ไม่มีสิทธิ์บอกว่าห้ามคนอื่นแสดงความคิดเห็น หรือห้ามใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง



ผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้าระบุชัดเรื่องนี้ไม่เกิดความปรองดอง

ผมไม่ค่อยเชื่อถือผลการวิจัยนี้ รายงานการวิจัยที่พอจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงได้คือของต่างประเทศ แต่พอมาถึงบ้านเรา การวิจัยขาดความรอบด้าน ขาดเหตุผลหลายประการ

และข้อสรุปที่เกิดมาจากเรื่องความปรองดองหรือไม่นั้น เป็นเพียงการคาดหมายของผู้วิจัย ไม่ใช่คำตอบที่ชัดเจน

การวิจัยส่วนหนึ่ง เช่น เรื่องการเริ่มคดีใหม่ก็เอามาจากข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เสนอไปก่อนหน้านี้ เพียงแต่เสนอในกรอบที่กว้างกว่า โดยใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์เพื่อกลับสู่ข้อกำหนดของกระบวนการยุติธรรม

สิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าต้องกลับไปคิดคือ การเสนอแบบตัดตอนบางส่วนจะช่วยให้เกิดความปรองดองได้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็น ที่เถียงกัน



แก้ไขกับไม่แก้ไข ม.112 มีประโยชน์อย่างไร
หากไม่แก้ คนที่ถูกกล่าวหาซึ่งผิดจริงหรือไม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวน การยุติธรรม ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการประกันตัว และอัตราโทษสูงอยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่เรายังไม่รู้ว่าเขาผิดหรือไม่ถูกขังไปแล้ว

ซึ่งเป็นผลกระทบชัดเจนที่สุดที่มีต่อคนที่ถูกกล่าวหา บางคนยังไม่เข้าใจว่าพูดในลักษณะใดจึงเป็นการหมิ่นประมาทอาฆาต



ฝ่ายไม่สนับสนุนมีมากจะเคลื่อนไหวอย่างไร
ผมพูดเสมอว่านิติราษฎร์เคลื่อนไหวทางความคิด ซึ่งจะทำแบบนี้ต่ออยู่แล้ว ผมเฝ้าดูการบังคับใช้กฎหมายของสังคมไทยมาหลายปี ตั้งแต่กลับจากต่างประเทศ เห็นว่ามีหลายเรื่องที่บิดเบี้ยวมากขึ้นเกินกว่าจะรับได้

ยืนยันว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็น ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่สตางค์แดงเดียวก็ไม่ได้รับ

หากดูจากตรงนี้โดยไม่อคติมากเกินไปจะแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อใดที่เอาความโกรธเกลียดนำ ไม่มีทางที่บ้านเมืองจะปลอดจากความขัดแย้ง

หลักๆ คือการเกลียดคนคนหนึ่งมากเกินกว่าเหตุ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะว่าส่วนไหนเขาทำถูก ส่วนไหนทำไม่ถูก แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างที่ทำผิดหมด จึงอยากถามว่าจะปรองดองอะไร เพราะการปรองดองต้องเริ่มจากความจริงก่อน

ไม่มีการปรองดองแน่นอนหากไม่กลับไปสู่ความจริง โดยที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น การปรองดองแบบตัดตอนไม่มีทางทำให้ความขัดแย้งหายไปได้



ความคืบหน้าการล่ารายชื่อแก้ ม.112

เป็นภารกิจของคณะรณรงค์แก้ไขม.112 คณะนิติราษฎร์มีหน้าที่ดูกฎหมาย การรวบรวมจะครบ 112 วันประมาณต้นเดือนพ.ค. เข้าใจว่าจะมีการประชุมกัน จากนั้นคงจะชี้แจงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวน การก็เดินไป

กรณีผมถูกทำร้ายไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการรณรงค์ม.112 คนที่ทำร้ายหรือสั่งให้มาทำร้ายอาจรู้สึกว่าทำเพื่อให้หยุด แต่ในกระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนจำนวนมาก

ต่อให้ทำร้ายผมก็ไม่สามารถหยุดได้ เมื่อขึ้นรางแล้วมันต้องเดินต่อไป

วันนี้ผมยังใช้ชีวิตตามปกติ เพียงแต่มีความระมัดระวังมากขึ้น ปัจจุบันมีคนส่งจดหมายมาต่อว่าบ้าง แต่ไม่สนใจหรือหวั่นไหว คนที่ให้กำลังใจก็มีอยู่มากเช่นกัน



รู้สึกอย่างไรกับคำว่า ′นิติเรด′
เป็นพวกไม่รู้ความจริง ใช้จินตนาการไปเองว่านิติราษฎร์มีการเมืองอยู่เบื้องหลังจึงคิดแบบนี้ คนเหล่านี้เห็นการเมืองเป็นละครมากเกินไป ไม่รู้ว่าในสภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง มีกลุ่มบุคคลที่ซื่อสัตย์ต่อสำนึกและมโนวิชาที่พูดไปตามสิ่งที่เห็นจริง ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวพัน

คณะนิติราษฎร์มีคนเพียง 7 คน แต่ประเด็นที่เราเสนออาจมีพลังในทางเหตุผล คนจึงให้ความสนใจ และคนที่สนับสนุนนิติราษฎร์ไม่ได้สนับสนุนโดยมืดบอด

นิติราษฎร์ก่อตัวมาเป็นปีแล้ว เสนอประเด็นการลบล้างรัฐประหารที่มีเหตุผลรองรับ เมื่อเขาเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดีจึงมาสนับสนุน ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง

แน่นอนว่าคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งอาจไม่สนับสนุนด้วยเพราะมีความหลากหลาย รวมถึงคงมีคนที่ไม่ใช่คนเสื้อแดงสนับสนุนอยู่เหมือนกัน

กรณีคนที่ไม่สนับสนุนโดยมองว่านิติราษฎร์เป็นพวกรับเงินมาเคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องของเขา




........
"สื่อจำนวนหนึ่งมีความโน้มเอียง อคติ

ทำลายเรื่องความซื่อตรงมาก
รายงานไปด้วยอคติ
มองคนที่เห็นต่างว่าเลวร้ายไปหมด"
.......


อุปสรรคการเดินหน้าเรื่องนี้
ส่วนหนึ่งมาจากสื่อ หลังจากความขัดแย้งรุนแรง สื่อก็แยกข้าง สื่อจำนวนหนึ่งมีความโน้มเอียง อคติ ทำลายเรื่องความซื่อตรงมาก รายงานไปด้วยอคติ มองคนที่เห็นต่างว่าเลวร้ายไปหมด และเลือกที่จะเสนอโดยไม่มองการเมืองทั้งระนาบ

เช่น ช่วงที่เสนอปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เราเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล ทหาร สถาบันการเมือง แต่เวลาที่นำเสนอกลับเน้นเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้พูดเรื่องอื่น เป็นการตัดตอนเนื้อหา บางครั้งใช้ถ้อยคำปลุกระดมด้วย



เสียงวิจารณ์ว่านิติราษฎร์เป็นพวกล้มเจ้า
เรื่องแบบนี้ทำให้คนในสังคมขาดสติได้ง่ายที่สุด แต่ถามว่าเราควรปล่อยให้สังคมขาดสติแบบนั้นต่อไปหรือไม่ หรือเราคิดว่าควรจะพูดอะไรเพื่อเตือนสติและบอกสังคม ถ้าทุกคนกลัวหมด ปล่อยให้สังคมขาดสติแบบนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี

เรื่องความกดดันไม่มีอยู่แล้ว ผมไม่เคยอยากได้ตำแหน่งอะไร ตำแหน่งผู้บริหารก็ไม่เคยอยากเป็น สิ่งที่ทำได้คือการทำให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ของคนในสังคมยกระดับสูงขึ้น เมื่อเข้าใจแล้วจะเกิดทัศนะที่ถูกต้องเอง

คงต้องใช้เวลาหลายปี แต่จะอดทน ใช้ความจริงใจและให้เวลาเป็นเรื่องพิสูจน์



เสรีภาพทางวิชาการใน ม.ธรรมศาสตร์ตอนนี้
โดยสภาพไม่เปิดกว้างหรอก ทั้งเพื่อนร่วมงานหรืออะไรหลายอย่างที่มีความไม่เป็นมืออาชีพ ในหมู่ของคนมีการออกข้อสอบเสียดสี ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและระดับจิตใจของคน แต่ผมก็เข้าใจ

ธรรมศาสตร์ไม่ได้เป็นอย่างที่เคยเป็นมานานแล้ว อย่างไรก็ตามยังรู้สึกว่าธรรมศาสตร์ดีกว่าที่อื่นอีกมาก และประกอบกับว่าผมรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ในกรอบของกฎหมาย

ไม่เช่นนั้นคงถูกดำเนินการทางวินัยหรือถูกลงโทษแล้ว

ที่มา มติชน

No comments:

Post a Comment