คำถามถึงรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย อย่าลืมว่า ผู้ที่ต้องคดี 112 จำนวนมาก เคยต่อสู้มาด้วยกัน การวางเฉยต่อประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อเช่นนี้ จะให้ความหมายว่าอย่างไร
ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมานี้ เป็นระยะเวลาแห่งการรวบรวมรายชื่อประชาชนของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพื่อที่จะให้มีการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรานี้ ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่กรณีนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย แม้ว่าจะเป้าหมายของการรณรงค์จะเป็นไปเพื่อสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย และเพื่อให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ที่น่าสังเกตคือ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้แสดงท่าทีไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหว และบางส่วนถึงกับแสดงท่าทีคัดค้าน แต่การเคลื่อนไหวของ ครก.112 และคณะนิติราษฎร์ก็ยังดำเนินต่อไป
ความจริงแล้ว การแสดงท่าทีไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยของพรรคเพื่อไทยในกรณีปฏิรูปกฏหมายมาตรา 112 นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก กลับเป็นการตอกย้ำด้วยซ้ำไปว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ด้วยกฏหมายมาตรา 112 นั้น เป็นปัญหามากกว่าเรื่องของกฎหมาย แต่เป็นปัญหาของโครงสร้างทางความคิดของชนชั้นนำไทย ที่ครอบงำประชาชนด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยมเจ้า (royalist conservative) ซึ่งมีลักษณะนิยมเจ้าเกินจริงยิ่งกว่าราชา เน้นความศรัทธายิ่งกว่าเหตุผลและความชอบธรรม และทำให้เกิดการตีความกฎหมายจนเกินขอบเขต จึงก่อให้เกิดความวิตกและหวาดกลัวในทุกเรื่องที่จะไปแตะต้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
จึงกลับกลายเป็นว่า ทั้งที่กฎหมายอาญามาตรา 112 มีเป้าหมายเพียงการคุ้มครอง พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้อยู่ในฐานะล่วงละเมิดมิได้ แต่พวกขวาอนุรักษ์นิยม ตีความให้กฎหมายอาญามาตรานี้ เป็นสิ่งแตะต้องไม่ได้ไปด้วย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่กล้าแตะต้อง และพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีไม่สนับสนุน เพราะเมื่อคณะนิติราษฎร์เสนอข้อเสนอนี้ ก็ถูกพวกสลิ่มสารพัดสี พวกแมงสาบ และพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด รุมถล่มโจมตีด้วยข้อหาล้มเจ้าโดยทันที ดังนั้น ถ้าหากว่า รัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีสนับสนุนการรณรงค์ ก็จะถูกโจมตีทันทีว่าเข้าร่วมขบวนการล้มเจ้า และจะเป็นการ ”เรียกแขก”มาถล่มรัฐบาลแทน ซึ่งมีผลต่อเสถียรภาพ ทำให้ชนชั้นนำไทยมีข้ออ้าง ที่จะล้มรัฐบาลประชาธิปไตยก่อนวาระ ด้วยวิธีการอันไม่ศิวิไลซ์ทั้งหลาย
แต่ที่เหลือเชื่อก็คือ แม้ว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทยจะแสดงท่าทีปฏิเสธการรณรงค์ของ ครก.112 มาแต่แรก พวกสลิ่ม พวกแมงสาบและพวกขวาจัด ก็ยังอุตส่าห์โจมตีว่า ครก.กับพรรคเพื่อไทยเป็นกลุ่มเดียวกันอยู่นั่นเอง โดยอ้างว่า ทั้งนิติราษฎร์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. ต่างก็เป็นเครือข่ายทักษิณ การดำเนินการของนิติราษฎร์เป็นเพียงยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” เพื่อล้มเจ้าตามแนวคิดทักษิณ ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็ไม่เคยแสดงท่าทีแม้แต่ครั้งเดียว ที่จะเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ข้อกล่าวของพวกขวาจัดนี้ จึงเป็นข้อกล่าวที่ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานและข้อเท็จจริงแม้แต่น้อย
และจากการที่รากฐานแนวคิดแบบนิยมเจ้าเกินกว่าราชา (ultra royalism) วางรากฐานอยู่บนศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยอารมณ์ความรู้สึกยิ่งกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริงเช่นนี้เอง จึงทำให้การต่อต้านข้อเสนอของนิติราษฎร์ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา จึงแทบจะไม่ได้มีการผลิตคำอธิบายหรือเหตุผลที่เป็นระบบมาอธิบายตอบโต้ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ได้เลย และต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เมื่อ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เสนอปาฐกถาในหัวข้อ “ระบบสังคมการเมืองที่ขัดฝืนการเปลี่ยนแปลง คืออันตรายที่แท้จริง” ชี้ให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองปัจจุบันที่เกิดจากการที่พวกกษัตริย์นิยมขัดฝืนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยลดทอนหลักประชาธิปไตยแล้วเพิ่มพระราชอำนาจ และจะเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ก็มิได้มีนักวิชาการฝ่ายขวาคนใดมาตอบโต้ในทางเหตุผลให้เกิดความกระจ่างแจ้งเลย
ความจริงแล้วในประวัติศาสตร์ ผลร้ายของความศรัทธาอย่างงมงายก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนมาแล้ว เช่น กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่ขบวนการนักศึกษาถูกกล่าวหาว่า จัดทำละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กลไกรัฐและกลุ่มฝ่ายขวาได้ปลุกระดมประชาชนขึ้นมา ก่อการทำร้ายนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำกำลังตำรวจปฏิบัติการพิเศษเข้ามาดำเนินการกวาดล้างปราบปราม จนทำให้มีนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารชีวิตด้วยิธีการอันเหี้ยมโหด จำนวนกว่า 40 คน การเข่นฆ่าสังหารเกิดขึ้น โดยไม่ต้องไต่ถามเหตุผล และโดยไม่ต้องพิจารณาเลยว่า นักศึกษาคนที่ถูกฆ่านั้นเป็นผู้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ หรือถ้าเกี่ยวข้องจริง ในฐานะที่บ้านเมืองปกครองด้วยกฎหมาย การใช้ศาลเตี้ยฆ่าคนเสียเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และการเข่นฆ่านักศึกษาในเช้าวันที่ 6 ตุลานั้น เป็นเงื่อนไขนำมาสู่การก่อรัฐประหารล้มล้างประชาธิปไตยในเย็นวันเดียวกัน ซึ่งเป็นการสถาปนาระบอบเผด็จการขวาจัดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือ รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร และคณะรัฐประหารชุดนี้เอง ที่ออกคำสั่งเผด็จการ เพิ่มโทษในกฎหมายมาตรา 112 ให้เป็นโทษสูงเช่นในปัจจุบัน ปัญหาคือเมื่อเวลาผ่านไป ก็เป็นที่ทราบกันชัดเจนว่า กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของฝ่ายนักศึกษานั้นเป็นเหตุการณ์ไม่จริง เป็นเรื่องของการใส่ร้ายป้ายสี แต่การเข่นฆ่าสังหารก็เกิดขึ้นไปแล้ว การรัฐประหารก็ผ่านไปแล้ว ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าเมื่อ 6 ตุลา ยังไม่ได้รับการชดเชยจนถึงทุกวันนี้ และชนชั้นนำไทยก็ไม่เคยสรุปบทเรียน จึงทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ยังต้องตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 เรื่อยมา
ประเด็นต่อมา ด้วยหลักคิดแบบอนุรักษ์นิยมเจ้าจนเกินงามนี้เอง ได้ครอบงำความคิดของศาลไทย ทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดการไขว้เขวบิดเบือนอย่างหนักไปด้วย เพราะบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย ต่างก็ถูกครอบงำด้วยความคิดกษัตริย์นิยมอันเน้นแต่ศรัทธาและอารมณ์ความรู้สึกภักดี จึงไม่เคยมีใครเลยในกระบวนตุลาการ ที่จะออกมาวิพากษ์ความบกพร่องและความไม่เป็นธรรมของกฎหมายมาตรา 112 ทั้งที่เป็นกฎหมายเผด็จการ เป็นผลิตผลของการรัฐประหาร มีระบบคำอธิบายที่ไร้เหตุผล และมีมาตราการลงโทษที่สูงเกินจริง ผู้พิพากษาทั้งหลายต่างก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน และนำเอาหลักกฎหมายป่าเถื่อนเช่นนี้ ไปตัดสินลงโทษประชาชนผู้บริสุทธิ์ครั้งแล้วครั้งเล่า และยังใช้เป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะสิทธิการประกันตัว คณะตุลาการกลายร่างเป็นพวกใจดำอำมหิต เห็นการติดคุกของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ
ประเด็นปัญหาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยต่อกรณีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ ทางฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วบกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ ก็ไม่สามารถที่จะอธิบายในเชิงเหตุผลในการโต้แย้งกับนิติราษฎร์ได้เลย จึงกลายเป็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่แสดงบทบาทในการคัดค้านนิติราษฎร์มากที่สุด ก็ต้องไปนำเอาเหตุผลแบบพวกขวาจัดมาใช้ ทำให้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ ไม่มีความแตกต่างกับพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายพันธมิตร นอกจากนี้ ก็คือการประกาศเพียงแต่ว่า จะไม่รับข้อเสนอของ ครก. แม้ว่าจะมายื่นต่อรัฐสภา พวก ส.ส.ทั้งหลายก็จะไม่พิจารณา
ในวันนี้ พรรคเพื่อไทยได้ผลักดันร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอให้แก้มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เรียกกันว่า สสร. ในข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย จะให้ สสร.นั้นมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด เป็น 77 คน และให้มีนักวิชาการด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์อีก 22 คน ต้องขอกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่รู้จักเข็ด เพราะข้อเสนอแบบนี้ก็จะเปิดทางให้พวกเนติบริการ และรัฐศาสตร์บริการหน้าเดิม ที่เคยรับใช้เผด็จการและร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กลับมาใหม่ คือถ้าไม่มีมาตรการป้องกัน ก็จะได้นักกฎหมายอนุรักษ์นิยมเจ้า และนักวิชาการฝ่ายขวามาแก้รัฐธรรมนูญเช่นเดิมอีก และบางส่วนยังพยายามเสนอด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทางประชาธิปไตยเลย เพราะถ้าหากว่าไม่มีการยุบเลิกองคมนตรี ก็จะเป็นการเปิดทางให้อภิสิทธิ์ชนพวกนี้ อ้างสถาบันแล้วหนุนฝ่ายทหารก่อการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยได้อีก
ต่อกรณีมาตรา 112 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลเพื่อไทย ที่ย้ำในจุดยืนว่า จะไม่สนับสนุนการแก้ไข แต่ไม่เคยแสดงท่าทีหรืออธิบายเลยว่า ต่อประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ที่ต้องติดคุกและถูกลงโทษอย่างไม่ถูกต้อง จะมีการช่วยเหลือหรือไม่ และอย่างไร อย่าลืมว่า ผู้ที่ต้องคดี 112 จำนวนมาก และโดยเฉพาะ คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ก็เคยต่อสู้มาด้วยกัน การวางเฉยต่อประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อเช่นนี้ จะให้ความหมายว่าอย่างไร
โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่มา ประชาไท
No comments:
Post a Comment