การต่อรองกันแบบนี้ คือการพยายามแยกมวลชนหัวก้าวหน้าออกจากสมการทางการเมือง โดยอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า มวลชนกลุ่มนี้ยังไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมือง ถ้าตัดไฟแต่ต้นลมก็จะสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้
สมมุติฐานนี้เป็นความพยายามเช่นเดียวกับการทำลายมวลชนในปี 2516, 2519 ซึ่งเกิดจากความหวั่นไหวต่อการเติบโตของฝ่ายซ้าย แต่ในปัจจุบันนั้นความหวั่นไหวเกิดจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาในสภาวะที่รณรงค์ให้เลือกข้างเลือกรักอย่างชัดเจนแต่ไม่เป็นไปตามที่หวัง
วิธีการปรับตัวของอำนาจโบราณคือการต่อรองกับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งด้วยหวังว่าจะหยุดยั้งทิศทางการขยับเคลื่อนของสังคมได้ ก็เลยทำให้กลายเป็นเรื่องน่าขันสำหรับผมอย่างยิ่ง ถ้าอำนาจโบราณฉลาดคิดเป็นตั้งแต่ต้น ก็คงไม่ต้องทำรัฐประหาร 2549 และเกี๊ยะเซี้ยะกันตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งอำนาจและบารมีก็คงเบ่งบานถึงขึดสุดมาจนทุกวันนี้ แต่เพราะความเขลาด้วยความเกรงกลัวกลุ่มทุนใหม่จะมาลดบทบาทของตน จึงทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนใหม่ให้กระชับอำนาจกับฝ่ายตัวให้มากขึ้น (แต่ก็ยังเขียนให้ซับซ้อนขัดกันไปขัดกันมาในรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ อยู่เหมือนกับฉบับก่อน ๆ อยู่ดี)
ประเทศไทยก็เลยยังไม่ไปไหน เพราะพวกใช้กำลัง กับพวกใช้กฏหมาย ทำเรื่องจนมั่วอิรุงตุงนังไปหมดแบบนี้
ขณะที่สังคมขับเคลื่อนไปในทิศทางเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาก็ยังพยายามกระชับอำนาจไว้กับฝ่ายตน และแบ่งปันทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมเหมือนเดิม ในขณะที่ประชาชนตื่นรู้ (ตาสว่าง) มากขึ้นเรื่อย ๆ
ในสภาวะการณ์แบบนี้น่าจะนำไปสู่การปะทะกันอีกครั้งระหว่างพลังเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะถ้าพรรคการเมืองไม่คิดที่จะป้องกันปัญหา แต่กลับทำตัวเป็นแค่นักฉวยโอกาสเสียเอง มันก็จะกลายเป็นสภาพที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเหนือรัฐใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการแสวงอำนาจ และฉวยโอกาสบนกองเลือดกันอีก
การป้องกันการเสียเลือดเนื้อจะทำได้ ก็ต้องอาศัยประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าโดยรณรงค์ให้คนไทยยอมรับระบบเลือกตั้ง รณรงค์ให้เข้าใจปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหากฏหมายอาญาที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและขัดกันเองในประมวลกฏหมายเดียวกัน ต้องทำให้คนไทยเข้าใจให้ได้ว่าปัญหาปากท้องมันมีความสัมพันธ์กับปัญหาการเมืองและกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่ล้าหลังเป็นสิ่งจำเป็น ถ้ามันทำให้การเมืองมีสมดุลของอำนาจ สามารถพัฒนาต่อเนื่องได้ไม่สะดุด และอำนาจประชาชนเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ ถ้าทำเช่นนั้นได้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมก็จะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายขึ้น
ถึงแม้รัฐบาลนี้จะกลัวรัฐประหารจนถึงขั้นยอมตามที่เขาขอ ยอมมาขู่ประชาชน (ทั้ง ๆ ที่ใจไม่อยากทำ) และถึงแม้รัฐบาลนี้จะฟังประชาชนที่คัดค้านการออกมาพูดพล่อย ๆ ของนักการเมืองหลาย ๆ คน และออกมาแก้ตัวหรือขอโทษก็ตาม แต่ผมก็ยังไม่ไปโบนันซ่าอยู่ดี
เพราะอะไร.... เพราะผมต้องการที่จะแสดงให้รัฐบาลและอำนาจนอกระบบรู้ว่าประชาสังคมนั้นขับเคลื่อนไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้น เพียงเพราะต้องการให้อำนาจนอกระบบรู้ว่าประชาชนต่อต้านเผด็จการ การชุมนุมที่โบนันซ่านั้นถ้าประชาชนไปร่วมน้อย ก็เป็นสํญญาณที่ชัดเจนว่าประชาชนต้องการประชาธิปไตย ต้องการแก้ไขกฏหมายที่เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการยกระดับการรับรู้ของมวลชนไปอีกขึ้นหนึ่ง
เป็นการส่งสัญญาณให้ทั้งรัฐบาลและอำนาจนอกระบบเองให้รู้ทิศทางมวลชน ผมไม่เห็นว่าจะเกี่ยวกับโอกาสการเกิดรัฐประหารหรือไม่
ถ้าทหารจะใช้กำลังอีกครั้ง คงไม่ใช่เพราะกลัวหรือไม่กลัวประชาชนหรอก เรื่องนั้นข้อมูลฝ่ายความมั่นคงมันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแสดงพลังอะไรเลย จำนวนคนที่โบนันซ่าไม่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจใด ๆ ของทหาร ทหารไม่กล้าทำรัฐประหารเพราะกลัวผลที่จะตามมาต่างหาก รัฐประหารครั้งนี้จะต้องฆ่าประชาชนกี่คน จะมีการก่อการจราจลไปทั่วประเทศหรือไม่ รัฐประหารสำเร็จแล้วจะบริหารอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความสงบ จะกระทบกับเศรษฐกิจการค้าอย่างมากจะแก้ไขอย่างไร และจะมีปัญหากับประชาคมอาเซียน ญี่ปุ่น และโลกตะวันตกอย่างไร
ถ้ารัฐประหารไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏ ต้องโทษประหารชีวิต หนีไปต่างประเทศ ครอบครัวต้องหนีด้วย จะทำอย่างไร ทหารต้องคิดเรื่องพวกนี้ต่างหาก ไม่ใช่คิดว่าคนไปโบนันซ่าน้อยก็รัฐประหารได้ ไปเยอะรัฐประหารไม่ได้
ถ้ารัฐบาลกลัวรัฐประหารนัก ก็อย่าไปโยกย้ายเดือนเมษานี้ขัดใจอำมาตย์และอย่าไปตัดงบกลาโหมหรือขัดขวางการซื้ออาวุธ แค่นั้นก็ผ่านไปได้แล้ว ไม่เห็นเกี่ยวกับจำนวนคนที่โบนันซ่าตรงไหน
ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เคลียร์ว่าการไปโบนันซ่า ไปทำเพื่ออะไร เพื่อใคร การปราศรัยที่โบนันซ่าคราวนี้ ก็เกรงใจคนฟังหน่อยแลัวกัน ไม่งั้นผมจะเอาเทปเก่า ๆ มาเปิดเทียบว่าแกนนำนปช.ที่ไม่เคยกลัวฟ้าไม่กลัวดิน กล้าหาญพูดจา กลับกลายมาเป็นอะไรหลังจากได้อำนาจรัฐ
โดย ขุนอิน สนับสนุนนิติราษฏร์ ที่มา กลุ่มสื่อประชาชน
No comments:
Post a Comment