Saturday, January 19, 2013

โหมกำลังหนุนนิรโทษฯประชาชน

ในระยะหลังปีใหม่ที่ผ่านมานี้ กระแสการเรียกร้องให้นิรโทษกรรมประชาชนกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกนำเสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุผลที่ว่า ประชาชนคนเสื้อแดงที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง เป็นพวกขบวนการล้มเจ้านั้น ถูกกวาดล้างปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน และบาดเจ็บนับพันคน

นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ถูกคุมขังในคุกทั้งคดีก่อการร้าย คดีละเมิดภาวะฉุกเฉิน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประชาชนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เป็นที่น่าเสียใจที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่บริหารประเทศแล้วถึง 17 เดือน พี่น้องประชาชนเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีและอยู่ในคุก

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล โดยสุดา รังกุพันธ์ สุดสงวน สุธีธร และไม้หนึ่ง ก.กุนที จึงเป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหวนัดรวมตัวที่หมุดคณะราษฎร วันที่ 29 มกราคม 2556 เวลา 08.00 น. เพื่อให้ได้กำลังประชาชน 10,000 คน เรียกร้องต่อรัฐบาลให้รับข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งได้รับการนิรโทษกรรมในสมัยประชุมสภาสมัยนี้

สุดา รังกุพันธ์ อธิบายเมื่อวันที่ 13 มกราคมว่า เหตุการณ์รุนแรงในปี 2553 ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงครามร้ายแรง และมีการกวาดล้างประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีผู้ถูกดำเนินคดี 13,857 คน ในศาล 59 แห่ง โดยคดีเหล่านี้ถูกศาลตัดสินอย่างรวดเร็ว แม้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ตัวการสำคัญก็ถูกตัดสินจำคุก บางคนได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ไม่มีเจตนาหลบหนี แต่หลังการพิพากาษาของศาลชั้นต้นกลับไม่ได้รับการประกันตัวออกมาเลย

นอกจากนี้ยังมีการออกหมายจับอย่างต่อเนื่อง อัยการยังคงสั่งฟ้องศาลคดีที่เกิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และอธิบายต่อไปว่า “ความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมติดลบหมดแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าสู่ความปรองดองโดยยังมีนักโทษการเมืองถูกขังอยู่เช่นนี้”

การเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ผลักดันให้มีการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาสู่การนิรโทษกรรมและแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ทั้งนี้ กลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์ยืนยันว่า การนิรโทษกรรมโดยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และมีปัญหาน้อยที่สุด โดยมุ่งไปที่การนิรโทษกรรมประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่าย และกระทำความผิดโดยมีเหตุจูงใจในทางการเมือง แต่จะไม่นิรโทษกรรมฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติเกินกว่าเหตุ หมายถึงว่าผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยห้ามการนิรโทษกรรม

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายว่า ที่ไม่เสนอเรื่องการนิรโทษกรรมเป็นพระราชบัญญัติ เพราะขณะนี้มีการนำเสนอพระราชบัญญัติปรองดองค้างในสภาหลายฉบับแล้ว และเดินหน้าไปไม่ได้ ทั้งร่างทั้งหลายไม่ได้มีลักษณะตามที่นิติราษฎร์เสนอ ซึ่งครอบคลุมคนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองทุกฝ่าย ไม่ว่าสีแดงหรือเหลือง จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนด และตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้การเสนอเป็นพระราชบัญญัติยังต้องมีขั้นตอนผ่านการพิจารณาของ 2 สภา ซึ่งอาจล่าช้าหรือสะดุดหากวุฒิสภาไม่รับรอง แต่ถ้าเป็นร่างเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเสนอผ่านที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งประหยัดเวลากว่า วรเจตน์ยังย้ำว่า การเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนการนิรโทษกรรมนี้ ไม่เกี่ยวกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมที่ยังค้างอยู่ในวาระ 3

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้รัฐบาลออกมาเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมประชาชน วรเจตน์ให้ความเห็นว่า พระราชกำหนดอาจถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้ถูกดึงและหน่วงเหนี่ยวให้ล่าช้าไปกว่าเดิม หรือถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เป็นโมฆะ

การนำเสนอวิธีการเช่นนี้ยังเป็นการสะท้อนว่า การนิรโทษกรรมประชาชนนั้นจะอาศัยกระบวนการทางการศาลไม่ได้ เพราะในระยะที่ผ่านมากระบวนการศาลใช้ 2 มาตรฐาน มุ่งลงโทษแต่ฝ่ายคนเสื้อแดงที่ตกเป็นเหยื่อเป็นหลัก ไม่ค่อยดำเนินคดีฝ่ายเสื้อเหลือง และดำเนินการกับฝ่ายนายอภิสิทธิ์ที่เป็นฆาตกรเข่นฆ่าประชาชนอย่างล่าช้า และโดยมากแล้วคดีของนักโทษการเมืองศาลจะวินิจฉัยไปตามโครงสร้างกฎหมายอาญาปรกติ เช่น เรื่องเผาทรัพย์ครบองค์ประกอบศาลก็ลงโทษเลย โดยไม่พิจารณามูลเหตุจูงใจว่าทำไมทำเช่นนั้น ไม่พิจารณาว่าเป็นผู้เคยกระทำผิดหรือมีจิตใจเป็นผู้ร้ายที่จะก่อคดีอาญาหรือไม่

ดังนั้น การวินิจฉัยคดีในเรื่องที่จะมีการนิรโทษกรรม นิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการตั้งองค์กรทางการเมือง เรียกว่าคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ที่ได้รับการเสนอชื่อจากฝ่ายต่างๆ และเลือกมาจากที่ประชุมรัฐสภา

ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ในคณะนิติราษฎร์ เสนอเพิ่มเติมว่า มาตรการที่กำหนดควบคู่ไปด้วยก็คือ ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และจะหมดหน้าที่เมื่อการดำเนินการแล้วเสร็จ โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุแห่งการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด กรณีที่มีความขัดแย้งในการตีความ เสนอให้รัฐสภาวินิจฉัย และด้วยกระบวนการนี้จึงไม่ก่อให้เกิดการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง

ผลจากการนิรโทษกรรมจะทำให้ผู้ทำความผิดสถานเบา เช่น ละเมิดภาวะฉุกเฉิน โดยเข้ามาในพื้นทีชุมนุมพ้นจากความผิดไปเลย ส่วนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอาญา และอยู่ในขั้นตอนของศาล ให้ระงับการดำเนินคดีชั่วคราว และให้ปล่อยตัวทันที จากนั้นส่งเรื่องให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัย ซึ่งถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นการกระทำผิดด้วยแรงจูงใจทางการเมือง การดำเนินคดีก็ยุติลงและได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรกติ

ดังนั้น ภารกิจของขบวนการประชาธิปไตยในขณะนี้ก็คือ การสนับสนุนและเข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และสนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ เพื่อผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 395 วันที่ 19-25 มกราคม 2556 หน้า 4 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย

No comments:

Post a Comment