Tuesday, May 20, 2014

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

20 May 2014 at 12:13

แถลงการณ์ คณะนิติราษฎร์

เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงนามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นั้น คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว เห็นว่าประกาศกองทัพบกดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๘๘ บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และวรรคสอง “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และมาตรา ๑๙๕ บัญญัติว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้” พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๒ บัญญัติว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน”

จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผู้บัญชาการทหารบกไม่

๒. การประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นอำนาจของผู้บัญชาการทหารในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆของทหารตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เกิด “สงคราม” หรือ “จลาจล” เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏว่าเกิด “สงคราม” หรือ “จลาจล” ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอันจะเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่แห่งนั้นหรือผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้แต่อย่างใด อนึ่ง หากมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ผู้ประกาศก็จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด อันแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเมื่อมีเหตุสงครามหรือจลาจลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทหารก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนได้

๓. ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ ได้อ้างสถานการณ์ที่มีการชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกให้มีผลทั่วราชอาณาจักร เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การชุมนุมทางการเมืองอยู่ในอาณาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่ได้ครอบคลุมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ การประกาศกฎอัยการศึกโดยให้มีผลทั่วราชอาณาจักรจึงเกินความจำเป็น ขัดกับหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วนที่เรียกร้องว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระดับรัฐธรรมนูญ อนึ่ง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงจนถึงขนาดจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อจัดการแก้ไขปัญหา รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษ ๒ ฉบับได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และการประกาศตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด

๔. เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวงข้างต้นแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประกาศกองทัพบก ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกไม่ใช่องค์กรเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักร และการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกดังกล่าวไม่ได้กระทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ได้กระทำในรูปของประกาศพระบรมราชโองการ แต่กลับกระทำในรูปของ “ประกาศกองทัพบก” ความไม่มีอำนาจของ “เจ้าหน้าที่” และการกระทำผิดแบบดังกล่าวเป็นความบกพร่องที่ร้ายแรงและเห็นประจักษ์ชัด จึงส่งผลให้ประกาศกองทัพบกฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ และฉบับต่อๆมาไม่มีผลในทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามเพื่อขจัดข้อถกเถียงว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าวยังคงมีผลในทางกฎหมายอยู่หรือไม่ และเพื่อขจัดความสับสนในทางปฏิบัติของบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนบุคคลทั่วไปว่าจะต้องปฏิบัติตามประกาศกองทัพบกและประกาศฉบับอื่นๆต่อมาหรือไม่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบนำร่างพระบรมราชโองการยกเลิกประกาศกองทัพบกฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกตาม มาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ต่อไป


คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

No comments:

Post a Comment