Tuesday, October 1, 2013

สัมภาษณ์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่ออำนาจศาล รธน. ปะทะอำนาจรัฐสภา

สัมภาษณ์/เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ
กราฟิก: วศิน ปฐมหยก

28 ก.ย. คือวันที่ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญมาถึงจุดร้อนฉ่าอีกครั้ง เมื่อสภามีมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มา ส.ว. ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 358 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียงขณะที่ ฝ่ายค้าน และกลุ่ม 40 ส.ว. วอล์คเอาท์

หมากการเมืองและหมากกฎหมายที่พรรคฝ่ายค้านและ ส.ว. บางส่วนได้วางไว้ก่อนหน้านี้ ก็กลายมาเป็นปัจจัยพัวพันการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อทันที


โดยก่อนหน้านี้ นายสาย กังกะเวคิน ส.ว. ระยอง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องขอให้พิจารณาว่าการแก้ไขรธน. ในส่วนของที่มา ส.ว. นั้นเข้าข่ายผิด ม. 68 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้น 25 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องพร้อมแจ้งมายังสำนักเลขาธิการรัฐสภา ให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของไว้พิจารณาแล้ว

พลันที่มีการลงมติผ่านฉลุย ด้วยคะแนน 358 เสียง ประธานวิปฝ่ายค้านก็ได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส. 143 คน ต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ทันที

แล้วทั้งหมดนี้มันคืออะไร เสียงของส.ส. และส.ว. 358 เสียงยังคงมีความหมายใช้การได้หรือไม่ แล้วบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีนี้ จะมีผลยับยั้งมติของรัฐสภาและกระบวนการต่อไปที่เข้าสู่ขั้นตอนพระราชวินิจฉัยหรือไม่ ประชาไทสัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายจากกลุ่มนิติราษฎร์ รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชน เพื่อให้เขาอธิบายโดยละเอียด

000
 
วรเจตน์ : ผมอธิบายแบบนี้ก่อน เรียงลำดับไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย นะครับว่า ตอนนี้ กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ มันดำเนินมาจนกระทั่งผ่านวาระ 3 แล้ว

การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นอยู่นี้ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรัฐสภาก็ได้ประชุมกัน แล้วกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ก็ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ทำเป็น 3 วาระ และเมื่อเช้าเมื่อนี้ก็ผ่านวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยคะแนนเสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ทีนี้ขั้นตอนต่อไปถัดจากนี้ ผมเอาขั้นตอนในทางกฎหมายก่อน ขั้นตอนถัดจากนี้จะเป็นไปตามมาตรา 291 (7) ก็คือ เมื่อมีการลงมติไปตามที่กล่าว ก็คือผ่านทั้ง 3 วาระมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 291 (7)
เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
มาตรา 150
ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับ เป็นกฎหมายได้
มาตรา 151
ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและ พระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษา ร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้น ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน คืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับ เป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

ก็หมายความว่า เมื่ออ่านมาตรา 291 (7) ประกอบมาตรา 150 กับมาตรา 151 แล้ว ก็จะได้ความว่าในขั้นตอนถัดจากนี้ไป นายกรัฐมนตรีก็ต้องมีหน้าที่ในการนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน อันนี้เป็นไปตามความในมาตรา 150 ที่จะอนุโลมมาใช้กับกระบวนการในการนำขึ้นทูลเกล้าด้วย

และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ถ้ามีการนำขึ้นทูลเกล้าไปแล้ว ก็จะเป็นประเด็นต่อไปในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้พระราชอำนาจเอาไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ มีพระราชอำนาจที่จะ เรียกว่าวีโต้ หรือไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย เรียกว่าใช้สิทธิวีโต้

การวีโต้ เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือการวีโต้โดยชัดแจ้ง พระราชทานคืนกลับมายังสภา ไม่ลงพระปรมาภิไธย กรณีที่สองเป็นการวีโต้โดยปริยาย คือเก็บร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้จนพ้น 90 วัน มิได้พระราชทานกลับคืนมา ผลก็คือจะไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ทำให้รัฐบาลต้องประชุมกันใหม่ เพื่อจะดูว่าสภาจะยืนยันร่างนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเกิดประชุมกันแล้ว รัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง และครั้งหลังนี้ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธย พระราชทานคืนมาใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเสมือนเป็นกฎหมายได้เลย อันนี้คือขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป ตามขั้นตอนปกติในทางกฎหมาย

ประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ มันมีกระบวนการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ผมเท้าความนะครับว่า หลังจากที่มีการพิจารณาในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ไปแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่ง ได้ไปยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 อันนั้นเป็นการยื่นตรง เขาเดินไปหาศาลรัฐธรรมนูญแล้วยื่นเข้าไป แล้วศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับเรื่องพิจารณา การยื่นตามมาตรา 68 นั้น ยื่นโดยอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลนั้นใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

แล้วก็ดังที่เราเคยพูดกันว่าจริงๆ การยื่นตามมาตรา 68 ไม่สามารถยื่นตรงได้ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด อันนี้เป็นไปตามมาตรา 68 วรรค 2 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้พิจารณาโดยตีความว่า พวกนี้สามารถไปยื่นตรงได้เลย

แต่ในความเห็นของผมเองและนักกฎหมายจำนวนมากเลยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา เพราะเป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครอง แต่กรณีนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่ ที่รัฐธรรมนูญให้ไว้กับรัฐสภา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็รับคดีเอาไว้แล้ว แล้วตอนที่รับเรื่องเอาไว้ ฝ่ายผู้ยื่นคือ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ก็ยื่นคำร้องขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวด้วย คือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาห้ามไม่ให้มีการลงมติวาระ 3 แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้แต่รับเรื่องเอาไว้พิจารณาแต่ว่าไม่มีการสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผลก็คือสภาก็เดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเมื่อเช้านี้ และก็ผ่านไปเรียบร้อย

ทีนี้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ จะมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่าตอนนี้ ถึงแม้ผมจะมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ศาลก็บอกว่าเขามีอำนาจและเขารับเอาไว้ ถ้าเกิดศาลมาวินิจฉัยในวันพรุ่งนี้ วันมะรืนนี้ หรือวันถัดไป ผลจะเป็นอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่เราจะได้พูดกันต่อไป แต่ว่าเท่าที่ได้ทราบข่าวมา ก็คือว่าหลังจากที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้ววันนี้ ผมทราบข่าวมาว่าจะมี ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนหนึ่ง จะหาทางระงับยับยั้งการที่นายกจะต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมส่วนนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

เท่าที่ทราบมาก็คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น ส.ว. ที่มาจากการสรรหา เขาก็จะเข้าชื่อกันแล้วยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 3 มาแล้วนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 เพราะว่าถ้าเกิดเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 154 ผลก็คือว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยไม่ได้ คือเป็นการยับยั้งการนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ น่ะครับ เพราะตามมาตรา 68 มันยับยั้งอะไรไม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งยับยั้งเอาไว้ ตอนนี้ฝ่ายค้านและฝ่าย ส.ว. เองก็หาช่องทางใหม่ คือช่องทางตามมาตรา 154

ม. 154 ให้ศาลตรวจสอบร่างพ.ร.บ.  ไม่ใช่ร่างแก้ไข รธน.

ในทางกฎหมายต้องอธิบายว่า มาตรา 154 เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทรงไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมตรวจสอบกรณีของการตราร่างพระราชบัญญัติที่จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นกรณีของร่างพระราชบัญญัติ ถ้าผ่านมา 3 วาระ แล้วฝ่ายค้านเขาไม่เห็นด้วย บอกว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านมาขัดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมาตรา 154 ก็ให้อำนาจ ส.ส. , ส.ว. หรือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ก็คือประมาณ 65 คน สามารถเข้าชื่อไปที่ประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกได้ แล้วให้ประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกนั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แล้วระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย นายกก็จะต้องไม่นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย คือต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทีนี้ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. สรรหาที่เขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาจะอ้างรัฐธรรมนูญมารตรา 154 เพื่อระงับยับยั้ง

ประเด็นก็คือเขาอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ได้ไหม คำตอบก็คือ อ้างไม่ได้นะครับ เพราะว่าอย่างที่ผมได้เรียนไปว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 154 มันเป็นกรณีของร่างพระราชบัญญัติที่มีการอ้างว่าตราขึ้นโดยขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ว่าประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้มันไม่ใช่เรื่องของร่างพระราชบัญญัติตามที่มาตรา 154 กำหนดไว้ แต่มันเป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มันเป็นกฎหมายคนละชนิดกัน

เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่า ส.ส. ส.ว. แม้เข้าชื่อกันไป ประธานสภาก็ไม่สามารถที่จะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะว่าไม่ตรงตามความในมาตรา 154 พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องนี้ถ้ายื่นมาแล้วผมเป็นประธานรัฐสภา ผมก็ไม่ส่งเรื่องไปครับ เพราะว่ามันไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 154 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นเรื่องร่างพระราชบัญญัติ ไม่ได้พูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้วผมเข้าใจเอาเองว่าประธานรัฐสภาก็จะไม่ส่งเรื่องนี้ไป แล้วถามว่าถ้าประธานไม่ส่งแล้ว ส.ส. ส.ว. เดินตรงไปหาศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ในระบบกฎหมายของเราทำไม่ได้ครับ

ดูจากช่องทางแล้วก็อาจจะคาดหมายได้ว่า เรื่องนี้จะไม่ไปศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างแน่นอน ตามมาตรา 154 เพราะฉะนั้นก็ไม่มีกรณีของการยับยั้งการทูลเกล้าได้ ผลในทางกฎหมายก็คือนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เมื่อนายกได้รับจดหมายจากประธานรัฐสภาแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน 3 วาระแล้ว นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามมาตรา 150 ประกอบกับ มาตรา 291 (7) ต้องนำร่างนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างฯ จากสภา

กล่าวโดยสรุป จากนี้ไปขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นขั้นตอนที่เป็นหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนที่ ไม่มีผู้ใดระงับยับยั้งได้ ก็จะต้องมีการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไปอย่างแน่นอน

ทีนี้ประเด็นจะมีอยู่ว่า ในทางกฎหมายก็จะเป็นอย่างที่ผมบอกอย่างนี้แหละ แต่ในทางการเมือง การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 จากการยื่นของ ส.ว. เมื่อตอนที่ผ่านวาระ 2 ไปแล้ว ผลคืออะไร ผลคือการรับเรื่องไว้แบบนี้ แม้ศาลจะไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ลงมติวาระสาม หรือแม้ศาลจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว รัฐสภาก็ไม่น่าจะฟังคำสั่งศาลเพราะศาลไม่มีอำนาจ ผมก็เห็นเช่นนั้นว่าศาลไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ศาลรับเอาไว้แล้ว ก็คาดหมายกันว่าศาลอาจมีคำวินิจฉัยออกมา

ทีนี้ การรับคดีไว้พิจารณาจะส่งผลในทางการเมือง แม้ในทางกฎหมายผมเห็นว่าทำไม่ได้ แต่ว่าจะมีอิทธิพลหรือส่งผลในทางการเมืองคือ มันจะทำให้บุคคลต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แล้วเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในการโหวตในสภา ก็จะเอาประเด็นนี้ยกมาอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่  นายกรัฐมนตรีไม่ควรนำเรื่องที่ค้างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นึกออกไหมครับ เพราะฉะนั้นการอ้างจะเป็นการอ้างเพื่อใช้ต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

แต่อย่างที่ผมบอกว่าข้ออ้างนี้มันก็เป็นข้อกล่าวอ้าง ในด้านหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็อ้างได้เหมือนกันว่าความจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญดันไปรับเรื่องไว้พิจารณาเอง โดยที่ตัวเองไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ และเป็นการก้าวก่ายอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นของรัฐสภา เพราะฉะนั้นเมื่อกระบวนการที่เขาทำมามันผ่านกระบวนการมาเรียบร้อยแล้ว มันก็ต้องเดินหน้าต่อไป จะเอาเหตุนี้มาอ้างไม่ได้ แล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามมาตรา 291(7) ประกอบ 150

ทีนี้ลองคาดหมายว่าการรับคดีไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ถ้ามองในแง่ของการเมืองทั้งระบบในเชิงของต่อสู้กันทางการเมืองที่ชิงกันอยู่ตอนนี้ ผมอยากจะให้ลองมองกว้างนิดหนึ่ง คือถามว่าทำไมการคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มันต้องใช้กลไกกันขนาดนี้ เอาเป็นเอาตานกันขนาดนี้ในทุกวิถีทาง คำตอบคือรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
 เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผลพวงต่อเนื่องมา ฝ่ายเขาได้วางกลไกในรัฐธรรมนูญ สร้างกลไกต่างๆ มาเขาก็ย่อมไม่อยากกลไกที่เขาสร้างเอาไว้ซึ่งกลไกหลายส่วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยถูกขจัดไป ตัว ส.ว. หรือวุฒิสภานั้นเป็นหมากสำคัญหรือเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ต้องรักษาเอาไว้

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ต่อไปจะเป็นการต่อสู้กันที่แหลมคมมากขึ้น มีการดึงเอาประเด็นต่างๆ เข้ามาเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้วได้ในช่วงระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ถัดไปจากนี้ค่อนข้างจะแน่นอน

นายกนำร่างแก้ไขรธน. ขึ้นทูลกล้าฯ จะเป็นอย่างไร

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีนี้ไว้พิจารณาโดยที่ตอนนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา มันจะส่งผลคือ หากว่านายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมไปแล้วก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ผลก็คือ การที่คดียังค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการนำไปกล่าวอ้าง อย่างน้อยบรรดาคณะบุคคลต่างๆ ที่อาจจะถวายคำปรึกษาก็อาจกล่าวอ้างได้ว่าเรื่องนี้มีคดีในศาลรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ก็คือว่าเป็นข้อพิจารณา

ผมอาจจะกล่าวได้ในแง่นี้ว่า ประเด็นที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญจะถูกนำไปใช้ในแง่ที่จะส่งผลต่อการมีพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมพูดเลยไปมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าพูดเลยไปกว่านี้จะไปติดเพดานของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ชี้ให้เห็นได้เพียงแค่นี้ว่าสิ่งที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวอ้างได้หลังจากขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ไปแล้ว นี่เป็นการวิเคราะห์ในแง่ทางการเมือง

ถ้าเกิดสภาพการณ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง ในช่วง 2-3 วันนี้ก่อนที่นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เกิดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา มีการนัดฟังคำวินิจฉัยโดยที่นายกฯ ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้า มันก็จะเกิดสภาพอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าการแก้ไขนี้ไม่ชอบ คำถามคือมันจะส่งผลผูกพันกับนายกรัฐมนตรีกับรัฐสภาขนาดไหน อันนี้ก็จะเกิดเป็นประเด็นที่จะต้องมีการวินิจฉัย
ถ้าเกิดมีคำวินิจฉัยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็คือจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันนี้ ถ้ามีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญยังจะมีคำวินิจฉัยอะไรออกมาอีกหรือไม่ เพราะมันขั้นตอนมันจะผ่านนายกฯ ไปแล้ว ไปเข้าเขตที่เป็นเรื่องพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญของประมุขของรัฐไป

ถ้าเกิดวินิจฉัยออกมาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตอนนี้ก็จะเป็นประเด็นแล้วว่า ถ้าคำวินิจฉัยออกมาในทางที่เป็นคุณกับฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายคัดค้านก็จะหยิบเอาคำวินิจฉัยนี้มาบอกว่านายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็จะเป็นประเด็นว่าคำวินิจฉัยนี้จะผูกพันนายกรัฐมนตรีไหม ผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ผมคิดว่าถ้าออกมาแบบนี้จริง ก็อาจมีประเด็นที่รัฐสภาปฏิเสธที่จะผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ความจริงในรัฐธรรมนูญก็มีการเขียนไว้เหมือนกันกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ก็จะมีคนหยิบบทบัญญัติแบบนี้มาอ้างเป็นสรณะว่า พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้ ถ้ายังไม่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องมีการระงับเอาไว้

ประเด็นที่อยากให้คิดกันคือ ประเด็นในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร แน่นอนก็จะมีคนอ้างว่า ทุกคนต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผมมีความเห็นว่า การเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการเคารพแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น หมายความว่า ศาลตัดสินอะไรมาทุกอย่างต้องเคารพและผูกพันทั้งหมด เคารพแบบหูหนวกตาบอด แบบไม่ต้องใช้สติปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นการเข้ามาวินิจฉัยเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจ คำวินิจฉัยนั้นก็เป็นเศษกระดาษที่ไม่สามารถผูกพันองค์กรของรัฐองค์กรไหนได้ แล้วองค์กรตามรัฐธรรมนูญเองก็ต้องยืนยันอำนาจแบบนี้ว่า คำวินิจฉัยอันนี้ไม่มีผลผูกพันองค์กรในทางรัฐธรรมนูญ

ถามว่าทำไมถึงอธิบายแบบนี้ เพราะมีนักกฎหมายใหญ่บางท่านอธิบายว่าถ้าอย่างนั้นระบบจะไม่เดิน ถ้าคนไม่ฟังคำวินิจฉัยของศาลจะเกิดอะไรขึ้น แต่ท่านไม่ได้บอกว่าหากตัวศาลเองไปวินิจฉัยในเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจอย่างชัดแจ้ง จะไปบังคับคนอื่นหรือองค์กรอื่นเคารพคำวินิจฉัยได้อย่างไร

เราต้องไม่ลืมว่าคำวินิจฉัยอันนี้เป็นคำวินิจฉัยในคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นเพียงองค์กรหนึ่งในทางรัฐธรรมนูญที่มีสถานะเสมอกับคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ไม่ได้มีสถานะเหนือกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แม้ว่าโดยหลัก องค์กรของรัฐทุกองค์กรจะต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าผูกพันโดยไม่มีเงื่อนไข

พูดอีกอย่างก็ได้ สมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกิดวินิจฉัยออกมาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดรัฐธรรมนูญแล้วต้องวินิจฉัยว่าคนที่ยกมือโหวตให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ แล้วสั่งประหารชีวิต ส.ส. ส.ว.ที่ยกมือโหวตให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถามว่าจะยังมีใครในประเทศนี้ที่จะเชื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ได้อีก

การทำคำวินิจฉัยแบบนี้ออกมามันขัดกับกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่จะอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรทุกองค์กร แล้วก็ตัดสินอะไรก็ได้ เขียนลงมาในคำวินิจฉัยแล้วก็ผูกพันหมด มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันต้องดูเหตุดูผลด้วย

แล้วองค์กรอย่างรัฐสภา เขาก็ทรงอำนาจของเขา และเรื่องนี้มันเป็น authority หรือเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียวในระบบกฎหมายไทยที่เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
เพราะฉะนั้นผลก็คือว่าในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ที่ออกมาก็จะไม่มีผลผูกพันองค์กรของรัฐ และตัวรัฐสภาเองจะต้องเป็นคนยืนยันความไม่ผูกพันของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็จะเกิดเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญขึ้นมา

พอถึงจุดนั้น มันก็จะพ้นไปจากประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย แต่จะเป็นการงัดข้อกันในแง่ของอำนาจในทางความเป็นจริง เพราะถือว่าองค์กรของรัฐไม่เคารพอำนาจของกันและกันไปแล้ว เพราะถือว่าองค์กรหนึ่งก้าวล่วงอำนาจของอีกองค์กรหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ องค์กรของรัฐนั้นเขาเชื่อฟังอำนาจไหน ถ้าเขาเชื่อฟังว่ารัฐสภาถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาก็เป็นเรื่องวินิจฉัยไป เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีผลอะไร มันก็ไม่ได้มีผลอะไร

ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการในระบบของเรา สุดท้ายก็จะไปที่พระมหากษัตริย์ที่จะลงพระปรมาภิไธย ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วเรื่องผ่านรัฐสภามา ก็ต้องถือว่า รัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรในทางการเมือง จะเป็นคนรับผิดชอบในทางการเมือง และนายกรัฐมนตรีเป็นคนรับผิดชอบในความถูกต้องแท้จริงในพระปรมาภิไธย นี่ก็คือคำอธิบายของผมที่มีต่อสภาพการในทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้ไป หลังจากที่รัฐสภามีมติผ่านวาระสามไปเมื่อเช้าวันที่ 28 กันยาที่ผ่านมา

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยอ้างว่า อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้หรือไม่

ผมเห็นว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจเขา ตามมาตรา 68 ที่ใช้อ้างตัวบทก็เขียนชัดว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้"
คำถามคือเขาแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองตรงไหน มีแต่ว่าการกำหนดอย่างนี้มันเป็นการส่งเสริมสนับสนุนตัวระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงยิ่งขึ้น

โดยความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าถามว่าผมเห็นด้วยไหมร้อยเปอร์เซ็นต์ไหมกับการให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ผมว่ามันดูจากบริบทนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูว่าสภาทำอะไร ผมเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องมันต้องทำทั้งฉบับ เพราะกลไกรัฐธรรมนูญมันจะโยงกัน แต่ว่าพอทำทั้งฉบับมันก็ทำไม่ได้เพราะครั้งที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำประชามติก่อนและ แนะนำให้แก้เป็นรายมาตรา ฝ่ายข้างมากในสภาก็ทำตามคำแนะนำ แก้เป็นรายมาตรา เริ่มแก้จากเรื่องที่วุฒิสมาชิกมาจากการสรรหาก่อน แล้วพอเขาทำแบบนี้เสร็จก็มีการไปยื่นอีกศาลอีกว่าการแก้ไขนี้ขัดกับมาตรา 68

คำถามก็คือ การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลที่จะต่อสู้กันแล้ว คือพอบอกไม่ให้แก้ทั้งฉบับเขาก็มาแก้รายมาตรา พอมาแก้รายมาตรา คนที่ยื่นบอกว่าแก้ทั้งฉบับไม่ได้จะเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็บอกว่านี่เป็นการล้มล้างการปกครองอีก ผมถามว่าแล้วจะแก้กันยังไง สรุปคือมันแก้ไม่ได้ใช่ไหม เพราะมันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ที่ต้องรักษาอย่างเคร่งครัดกระนั้นหรือ

ถ้าถามผมว่า เห็นด้วยไหมกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เรื่องวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมก็ยังสงวนความเห็นอันนี้อยู่นะ ระหว่างที่แก้ครั้งนี้กับแบบที่เป็นอยู่อันไหนดีกว่ากัน ถ้าเทียบกันแค่สองอย่างนี้ ผมก็ต้องบอกว่าไอ้แบบที่แก้มันดีกว่า แต่ถ้าถามว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม มันมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ถ้าทำโดยโครงสร้างของระบบทั้งระบบประกอบกัน มันมีระบบวิธีการเลือกตั้งซึ่งได้การกระจายตัวคนไปมากกว่านี้ แต่ว่าในเมื่อตอนนี้การต่อสู้มันบีบเรียวให้เหลือแค่ คุณจะเอา ส.ว.ที่มาจากการสรรหา หรือจะเอา ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าคำถามมีอยู่เท่านี้ ผมก็ต้องบอกว่าเอา ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าเกิดนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไหม เพราะถ้านำขึ้นทูลเกล้าไปแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ไปตามขั้นตอนและอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แล้ว แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอะไรออกมาในขั้นตอนนั้น จะวินิจฉัยออกมายังไง

ก็เป็นไปได้ เขาอาจจะวินิจฉัยออกมาในตอนนั้นอันนี้ก็ไม่ทราบได้ ตอนนี้มันจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ผมเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้คือกลับเข้าสู่หลักการที่ถูกต้อง ก็คือ จำหน่ายคดี เพราะกระบวนการมันไปหมดแล้ว มันเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้เขาเดินหน้าโหวตผ่านวาระสามไปแล้ว รางในทางรัฐธรรมนูญบอกให้ต้องเดินทางไปข้างหน้า ก็ต้องจำหน่ายคดีไป

มีคนอ้างอีกอันหนึ่งเหมือนกันว่า มีข้อครหาว่า ส.ส.มีการกดบัตรแทนกัน กรณีนี้ต้องตรวจสอบกันไปในเชิงการเมือง เขาไม่ได้เปิดกลไกตรวจสอบในทางกฎหมายให้ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่แม้จะจริงมันก็ไม่เป็นสาระที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการโหวตทั้งหมดเป็นโมฆะ เพราะคะแนนเสียงผ่านเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวนมากพอสมควร พูดง่ายๆ คือกระบวนการนี้ ถือว่าได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนในทางรัฐธรรมนูญแล้ว และต้องเดินหน้าไปจนสุดกระบวนการ

ถ้าตอบในเชิงของการวิเคราะห์ทางการเมือง ผมยังประเมินและวิเคราะห์ว่า จะมีความพยายามขัดขวางการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้อย่างรุนแรงต่อไปอีกในช่วงนี้ และแม้กระบวนการจะเดินมาจนถึงจุดนี้แล้ว ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าต่อไปข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีก

แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้วางกลไกที่เป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยา 49 เอาไว้ แล้ววัตถุประสงค์ของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ยังไม่บรรลุบริบูรณ์ คือมันบรรลุผลในระดับหนึ่งแล้ว โค่นรัฐบาลไปได้ มีการยุบพรรค มีอะไรไปแล้ว พูดง่ายๆ คืออำนาจเดิมก่อนรัฐประหารยังเป็นฝ่ายครองอำนาจหลักอยู่ตอนนี้ในกลไกของรัฐ มันก็ไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ที่ทำรัฐประหารหรือแม้แต่ผู้ที่บงการให้ทำรัฐประหารถ้าหากมี ซึ่งอาจจะอยู่ข้างหลัง

เพราะฉะนั้น ถัดจากนี้ไปเราก็จะเห็นว่า ความพยายามที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้เอาไว้ อุปมาเหมือนดังไข่ไดโนเสาร์ที่จะไม่ให้แตก มันจะทวีความรุนแรงและความแหลมคมขึ้นเป็นลำดับ

ถ้าถามผมว่าแน่ใจขนาดไหนว่าสุดท้ายจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว ผมบอกได้เลยว่าความแน่ใจของผมมีน้อยกว่าความไม่แน่ใจเยอะมาก อันนี้พูดในทางการเมือง ทั้งที่ความจริงในทางกฎหมายแล้ว ผมตอบว่ามันต้องเป็นไปตามนี้ มีเหตุมีผล มีความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างเต็มเปี่ยม แต่ว่าในทางการเมืองมันก็มีกลไก มีลูกเล่น มีแทคติก มีอะไรต่างๆ เข้ามา เราจะได้เห็นต่อไปในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 แล้วจะบรรลุผลได้ ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาล

ถูกต้อง ในแง่นี้รัฐบาลก็ต้องยืนไปตามหลักการแล้วก็ไปจนสุด ก็มีคนพูดถึงเรื่องของพระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในการวีโต้ ถ้าเกิดว่ามี ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้ เป็นพระราชวินิจฉัยของพระองค์ แต่ผมตอบไปจากหลักในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันก็เป็นขั้นตอนอันหนึ่ง วีโต้กลับมาก็ประชุมสภากันแล้วว่ากันไปตามหลักเกณฑ์มาตรา 291 (7) “เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ประกอบกับมาตรา 151 ถ้าวีโต้กลับมาแล้วคะแนนไม่ถึงสองในสามก็ตก ก็ต้องพยายามใหม่ ก็ต้องเป็นแบบนั้น

แต่ในด้านหนึ่ง จะเห็นกลไกในทางกฎหมายว่าเดินไปตามขั้นตอนของมัน เราก็ว่ากันไปตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะนี่คือกติกาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คนร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.ปี 50 วางเอาไว้เอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ เขาได้ทำตามกติกาที่พวกคุณวางเอาไว้เอง ไม่ได้ไปทำนอกกติกาเลย

แต่ตอนนี้พูดง่ายๆ คือ ฝ่ายที่มีส่วนหรือเกี่ยวพันในการวางกติกาที่ส่งผลต่อกลไกในรัฐธรรมนูญปี 50 กลับพยายามที่จะขจัดขัดขวาง ตั้งแต่ตอนที่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้ว รับรัฐธรรมนูญแล้ว บอกว่าว่ารับๆ ไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลัง จำกันได้ไหม คนทีพูดตอนนี้เป็นยังไง แล้วพอจะแก้ดูสิว่ามันยากขนาดไหน
เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจได้ว่านี่คือการต่อสู้กัน คือมันเป็นผลพวงของการทำรัฐประหาร เป็นการสู้กันทางกำลังที่ยังไม่จบ ข้อที่น่าเสียดายคือ ท่ามกลางการต่อสู้แบบนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ได้นำหลักการที่แท้จริงออกมาพูด ซึ่งแน่นอนถ้าถามผม ผมเห็นว่าฝ่ายที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องกว่าฝ่ายที่คัดค้าน และผมเห็นว่าการแก้ไขมันสามารถทำได้ดีกว่านี้ โดยกลไกที่มีระบบถ่วงดุลที่ดีกว่านี้ แต่ตอนนี้เมื่อมันสู้กันแบบนี้ ก็ต้องเอาทางที่เป็นผลเสียน้อยที่สุดก่อน นั่นก็คือ พยายามแก้ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดก่อน

ทีมา ประชาไท

No comments:

Post a Comment