Friday, September 13, 2013

นิติรัฐไม่ใช่รัฐตุลาการ

เพิ่งรู้ว่าวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นแกนนำรุ่น 3 (ฮา)

แหม่ ก็มาปาฐกถานำในงานเสวนารวมดาว มีทั้งไพบูลย์ นิติตะวัน, แก้วสรร อติโพธิ, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, หมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ฯลฯ ดีเท่าไหร่แล้วไม่ใส่หน้ากากขาว (ดีเท่าไหร่แล้วไม่ด่า “อีโง่”)

อดีตประธานศาลแนะนำให้รัฐบาลจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย หรือสำนักงานทนาย เพื่อบริหารให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งท่านเรียกว่าหลักนิติรัฐ ฟังเหมือนถูกนะครับ แต่ฟังไปเรื่อยๆ ก็เกิดความรู้สึกว่า หลักนิติรัฐนี่คือเจ้าถ้อยหมอความหรือเปล่าหวา หลักนิติรัฐนี่จู้จี้จุกจิกมีกับดักหลุมพรางทุกก้าวหรือเปล่าหวา


หลักนิติรัฐคือการเขียนรัฐธรรมนูญยาวเหยียดละเอียดยิบ 309 มาตรา แล้วบังคับใช้โดยศาล ซึ่งตีความตามพจนานุกรมก็ได้ ตีความให้ “และ” เป็น “หรือ” ก็ได้ อย่างนั้นหรือเปล่าหวา

วสันต์บอกว่าประเทศไม่ใช่บริษัท แต่ประเทศที่เจริญเขาไม่เขียนรัฐธรรมนูญยาวเหยียดละเอียดยิบ เช่นเดียวกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จต้องไม่ออกระเบียบจู้จี้จุกจิก

หรือท่านจะบอกว่านิติรัฐคือการปกครองด้วยกฎหมาย ซึ่งแล้วแต่ศาลจะใช้อำนาจตีความ เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า นั่นมันรัฐตุลาการ ไม่ใช่นิติรัฐ

แก้วสรร ไพบูลย์ ก็พูดคล้องจองกัน ท่านกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามการตีความของศาล โดยไม่สนใจว่ากฎหมายนั้นยุติธรรมหรือไม่ มีความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ ก้าวก่ายอำนาจบริหารหรือไม่

นิติรัฐต้องอยู่คู่ประชาธิปไตยนะครับ เผด็จการหรือราชาธิปไตยไม่มีนิติรัฐ


สาระหรือปลีกย่อย

วสันต์บอกว่ารัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง แต่ไม่มีกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงไปวินิจฉัย เรื่องแรกคือไม่แถลงผลงานปีละ 1 ครั้งต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสอง

โอเค ท่านพูดถูกครับ รัฐบาลไม่ได้แถลงผลงานทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดบทลงโทษ คือไม่ได้บอกว่าถ้าไม่ทำ แล้วต้องถูกถอดถอน ปลดออก ยุบพรรค ฯลฯ เจตจำนงของรัฐธรรมนูญดูเหมือนต้องการให้มี “ประเพณีประชาธิปไตย” เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าไม่ทำ ก็ไม่ลงโทษ

ในแง่นี้จึงเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องต้องใช้อำนาจตุลาการบังคับ คือถ้ารัฐบาลไม่ทำ โดยคนส่วนใหญ่เห็นว่าควรทำ ก็ต้องโลกะวัชชะ ถูกตำหนิติเตียน เสื่อม หรือไม่สามารถเรียกคะแนนนิยม

แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้น ถามว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้จำเป็นไหม จริงๆ ก็ไม่จำเป็น นี่ไม่ใช่เข้าข้างรัฐบาล แต่ต้องดูสาระว่า 2 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเรื่องไหนไม่โดนวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลทุกชุดถูกตรวจสอบทางสังคม โดยสื่อ โดยฝ่ายค้าน ตั้งกระทู้ถาม อภิปรายไม่ไว้วางใจ (หรือด่ารายวันทางบลูสกาย) จัดเต็มอยู่แล้ว ถ้าจัดประชุมแถลงผลงานถ่ายทอดสด เผลอๆ จะกลายเป็นเวทีสรรเสริญเยินยอ จ่าประสิทธิ์รำป้อ ฝ่ายค้านก็วอล์คเอาท์ ทุ่มเก้าอี้ บีบคอ ฯลฯ

เรื่องที่สอง วสันต์หงุดหงิดโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว พ.ร.ก.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องกู้เงินภายในวันที่ 30 มิ.ย.56 แม้กระทรวงการคลังไปเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่เบิกเงิน ก็เท่ากับไม่มีการกู้เงินเกิดขึ้น รัฐบาลเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

โอเค ก็เป็นไปได้ รัฐบาลอาจกู้เงินไม่ได้ ต้องไปตีความ พ.ร.บ.เงินกู้ ให้พวกมือกฎหมายรัฐบาล สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด หรือปลอดประสพ ถกเถียงไป ไม่ใช่หน้าที่ผมต้องเถียงด้วย ผมเพียงแต่จะบอกว่า ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวตรงไหนเลยนะครับ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เกี่ยว เพราะพ้นขั้นตอนการออก พ.ร.ก.มาแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านบอกรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่ว่าถ้าน้ำท่วมขึ้นมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ไม่ว่ากัน เป็นความเห็นทางการเมือง ท่านไม่ใช่ตุลาการแล้ว มีสิทธิแสดงความเห็นในฐานะแกนนำรุ่น 3 (ฮา) ที่จริงผมเห็นด้วย รัฐบาลต้องรับผิดชอบเป็นหลักอยู่แล้ว เพียงแต่ท่านต้องบอกคนฟังว่านี่เป็นเรื่องทางการเมืองนะ ไม่ใช่ความเห็นทางกฎหมาย

ท่านยังว่าไปถึงเงินกู้ 2 ล้านล้าน ตีความเหมือนคณิต ณ นคร คือรัฐบาลกู้ล่วงหน้า 7 ปีไม่ได้ กู้มาถลุงปีเดียว 8 แสนล้านแบบรัฐบาลอภิสิทธิ์ทำได้

ตีความมาตรา 169 แบบกำปั้นทุบดิน แบบนี้รัฐบาลไทยยุคไหนสมัยไหนก็ไม่สามารถทำโครงการใหญ่ระยะยาวเลยสิครับ

วสันต์อ้างว่าถ้าทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การยื่นคำขอในแต่ละปีจะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน และถูกตรวจสอบได้ง่าย ถามว่าถ้าเงินกู้ผ่านแล้ว รัฐบาลทำอะไรได้ตามอำเภอใจหรือครับ พ.ร.บ.เงินกู้ผ่าน รัฐบาลก็ต้องแยกมาทำเป็นเรื่องๆ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า แต่ละโครงการก็ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ต้องประมูลอย่างโปร่งใส ต้องถูกตรวจสอบจากสื่อ จากสังคม จากฝ่ายค้าน ที่สามารถตั้งกระทู้ถาม ยื่นญัตติ ไปจนอภิปรายไม่ไว้วางใจ

การตรวจสอบไม่จำเป็นต้องทำผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอย่างเดียว

“ถามว่าวันนี้จะทำรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ต้องขุดลงใต้ดินผ่านอุทยานฯ ป่าสงวน และชุมชนไหนบ้างรัฐก็ตอบไม่ได้ พูดอย่างเดียวจะเอาเงินกู้”

อ้าว เวลาจะสร้างจริง ก็มีกฎหมายศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฎหมายประชาพิจารณ์ ผู้เสียหายฟ้องศาลปกครองได้ ไม่ใช่หรือครับ ท่านพูดเหมือนกับเงินกู้ผ่าน รัฐบาลจะไปขุดรางรถไฟตรงไหนก็ทำได้ ไม่มีใครคัดค้านได้เลย

อันที่จริงจะบอกให้ว่า ถ้าอยากใช้งบ 2 ล้านล้าน รัฐบาลไม่ต้องกู้ทีเดียวก็ได้ มีวิธียอกย้อนซ่อนเงื่อนอีกเยอะ เช่นการตั้งงบผูกพัน ซึ่งสมัยรัฐบาลขิงแก่ก็ตั้งงบผูกพันให้กองทัพ 5 ปี ปีแรกผ่านฉลุย ปีหลังๆ ไม่มีใครเบรกได้ ไม่มีใครติดตามตรวจสอบอีกต่างหาก เพียงแต่การตั้งโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้าน มันบริหารจัดการสะดวกกว่า กระนั้นเมื่อทำอะไรแต่ละครั้ง ก็ปิดบังไม่ได้หรอกครับ ใครๆ ก็สนใจ

เวลาที่พูดกันเรื่องเงินกู้ 3.5 แสนล้าน กับ 2 ล้านล้าน แล้วมีคนคัดค้าน ว่ารัฐบาลชอบรวบรัดตัดความ ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือกลัวว่าจะทุจริต ผมเห็นด้วยนะ โดยเฉพาะโครงการระบบน้ำ 3.5 แสนล้าน  ซึ่งเปิดประมูลไปแล้วชาวบ้านยังไม่รู้เลย น้ำจะท่วมบ้านเราหรือเปล่า เรือกสวนไร่นาจะกลายเป็นแก้มลิงหรือเปล่า นี่ทักท้วงกันได้ (แต่รู้ไหมครับ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น พูดในรายการ Intelligence ว่าโครงการที่ประชาชนข้องใจมากที่สุดคือ 3.5 แสนล้าน ขณะที่ 2 ล้านล้านกลับข้องใจน้อยที่สุด เพราะรับรู้ข้อมูลมาก)

กระนั้น การคัดค้านเหล่านั้นควรจะเป็นเรื่องในเชิงกระบวนการ หรือต่อสู้กันทางการเมือง ทางความคิดเห็น ไม่ใช่ใช้วิธีการไปเปิดตัวบทกฎหมาย ตีความตัวอักษร หรือบิดตัวอักษร หาช่องว่างรูลอด เพื่อจะ “ล้ม” หรือเตะสกัดตัดขา ซึ่งทำให้หลักกฎหมายเสียหายไปหมด

เข้าใจว่านี่เป็นนิสัยนักกฎหมายไทย วิธีการของพวกที่เคยถูกเรียกว่าทนายตีนโรงตีนศาล คือแทนที่จะสู้กันตรงๆ เรื่องหลักการ เรื่องพยานหลักฐาน ก็ชอบไปหาช่องดิ้นแบบศรีธนญชัย แถ ตีฝีปาก สำบัดสำนวน จนตั้งพรรคการเมืองได้

คือไม่เห็นด้วยกับระบบบริหารจัดการน้ำ เพราะปลอดประสพแม่-งุบงิบทำคนเดียว จะสร้างเขื่อน สร้างฝาย ทำลายป่า ไม่ฟังใคร ด่าไล่อีกต่างหาก ก็เคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านสิครับ จัดประชาพิจารณ์ก็โต้แย้ง ต่อสู้กันด้วยข้อมูลข้อคิดเห็น รัฐบาลนี้มีสื่ออยู่ตรงข้ามเยอะแยะ ปิดกั้นไม่ได้หรอก ทำแบบนั้นผมเห็นด้วยเต็มที่

แต่ไม่ใช่มาตีความกฎหมายมาตรา 3 มาตรา 4 เพื่อจะล้มโครงการ เพียงเพราะรัฐบาลเซ็นสัญญาเงินกู้แล้วไม่ได้เบิกเงินจริง ตีความว่ายังไม่ได้กู้

หรือคัดค้าน 2.2 ล้านล้าน ก็พูดมาว่าไม่เห็นด้วยตรงไหน ไม่อยากให้ทำรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ หรือจะเสนอมาตรการป้องกันทุจริต อย่าใช้วิธีตีความมาตรา 159 แบบดุ้นๆ ว่ารัฐบาลกู้เงินมาทำโครงการระยะยาวไม่ได้

นี่กลายเป็นการตีความกฎหมายแบบเจ้าถ้อยหมอความเพื่อรับใช้เป้าหมายทางการเมือง


ตุลาการศาลศาสนา

ที่วสันต์ผิดเต็มๆ ก็คืออ้างว่าโครงการรับจำนำข้าวผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84(5) เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ว่ารัฐต้องให้มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด ตัดตอน

ซึ่งก็คือนโยบายเศรษฐกิจเสรี วสันต์อ้างว่ารัฐตัดตอนเสียเอง แท้จริงแล้วไม่ใช่การรับจำนำ เป็นการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา และโรงสีของรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิได้ซื้อ โรงสีเอกชนบางรายไม่ได้สิทธิรับซื้อ

ถามว่ารัฐบาลใช้อำนาจสั่งห้ามโรงสีหรือบริษัทเอกชนแข่งขันรับซื้อข้าวหรือครับ คำว่ารับจำนำทุกเมล็ดคือชาวนาเอามาเท่าไหร่รับหมด แต่ไม่ใช่บังคับ ถ้ามีโรงสีหรือบริษัทเอกชนซื้อราคาสูงกว่ารัฐบาล สูงกว่า 15,000 หรือต่ำกว่าแต่มีเงื่อนไขที่พึงพอใจ เขาก็ซื้อขายกันเยอะแยะ ท่านตีความได้อย่างไรว่าเป็นการผูกขาดตัดตอน

ตลก เพราะถ้าตีความอย่างนี้ พืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ รัฐบาลประกาศรับซื้อไม่อั้น ในราคาที่เอกชนไม่ยอมซื้อ ท่านก็จะบอกว่าขัดมาตรา 84(5) รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงราคาได้เลย

ที่ตลกกว่าคือ วสันต์ยังอ้างอีกครั้งว่า รัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลเข้าไปวินิจฉัยไม่ได้ ไม่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันที่มีอำนาจจะเข้าไปตรวจสอบ เรียกไต่สวน หรือออกคำสั่งห้ามได้ โดยที่ไม่ต้องมีคนร้องหากเห็นว่า รัฐบาลหรือรัฐสภากำลังทำผิด

ท่านอ้างมาครั้งหนึ่งแล้วในงานรำลึกสัญญา ธรรมศักดิ์ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้จบ ดร.เยอรมัน ไปพูดที่มูลนิธิคอนราด อเดเนาว์ ทักท้วงว่าไม่จริง ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันไม่มีอำนาจอย่างนั้น น่าจะเชิญนักกฎหมายเยอรมันมาให้ความรู้

“อย่าอ้างเยอรมันเพราะมันเสียหายประเทศเขา มันเป็นการอ้างไม่ถูก ถ้าผมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผมจะเจียมเนื้อเจียมตัวเพราะฐานที่มามันไม่ใช่ รัฐธรรมนูญของเยอรมันเขาเป็นประชาธิปไตยเต็มรูป มาดูรัฐธรรมนูญ 2550 ของไทยมันมีที่มาอันอัปยศจากการแย่งชิงอำนาจโดยรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และมีองค์ประกอบหลายประการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”อ.วรเจตน์พูดไว้

วสันต์ก็ยังอ้างอีก ไม่รู้จำผิดมาจากไหน ตกร่องได้ตลอด เรื่องนี้เป็นปัญหาเพราะมันไม่ใช่แค่เกร็ดความรู้ แต่ท่านจะสำคัญผิดในหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ

ในหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย เพื่อถ่วงดุลกันและกัน อำนาจตุลาการต้องใช้อย่างจำกัด และต้องเป็น “ฝ่ายรับ” ตามหลักที่ว่า “ที่ใดไม่มีผู้ฟ้อง ที่นั้นไม่มีผู้พิพากษา”(คณิต ณ นคร เขียนไว้ คัดค้านการวินิจฉัยมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ อ่านได้ในเว็บไซต์คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายhttp://www.lrct.go.th/?p=4185)

หลักนี้คืออยู่ๆ ศาลจะไปตั้งคดีขึ้นเองไม่ได้ ต้องมีผู้ฟ้อง ไม่เช่นนั้นศาลจะมีอำนาจมาก เพราะศาลชี้ขาดแล้วเป็นที่ยุติ ศาลต้องเป็นฝ่ายรับ มีคู่พิพาทให้ศาลชี้ขาด ไม่ใช่ศาลเห็นว่าใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็ลงมาเป็นคู่กรณีเสียเอง

ศาลที่ลงมาไต่สวนเอง มีแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง หรือศาลไคฟง สมัยเปาบุ้นจิ้น ซึ่งมีหวังเฉา หม่าฮั่น เป็นตำรวจ ใช้อำนาจจับกุม เปาบุ้นจิ้นเป็นพนักงานสอบสวนเอง ตัดสินเอง ปัจจุบันไม่มีใครใช้ระบบนี้แล้ว เพราะเปาบุ้นจิ้นมีแต่ในนิยาย ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเชื่อได้ว่าผู้พิพากษาทุกคนเที่ยงธรรมเหมือนเปาบุ้นจิ้น เราจึงแยกอำนาจสอบสวนกับอำนาจพิพากษาคดีออกจากกัน

เทียบยุคพ่อขุนรามหรือเปาบุ้นจิ้นอาจฟังดูดี แต่ศาลในระบบไต่สวน ที่เป็นตัวอย่างเลวร้ายคือศาลศาสนาในยุคกลางของยุโรป ซึ่งตัดสินจำคุกกาลิเลโอฐานบอกว่าโลกกลม และตัดสินเผาทั้งเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักบวชที่เห็นต่างกับศาสนจักรมานักต่อนัก ด้วยวิธีไต่สวนเอง ตีความกฎหมายเอง ตัดสินเอง

คือถ้าผู้พิพากษาขัดหูจัดหา หงุดหงิด เห็นว่าไอ้นั่นชั่ว อีนี่โง่ อะไรๆ ไม่ถูกต้อง บ้านเมืองจะฉิบหาย แล้วลงมาตรวจสอบ ไต่สวน ออกคำสั่งห้ามได้เอง ฟังเหมือนเข้าท่าใช่ไหมครับ แต่ใครจะมีหลักประกันว่าผู้พิพากษาจะไม่เหลิงอำนาจเสียเอง

กฎหมายจึงต้องมีผู้ร้อง มีคู่พิพาท ซึ่งก็ต้องเป็นผู้เสียหายผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ใช่ใครก็ได้ เกิดที่ศรีสะเกษ ผูกพันกับปราสาทพระวิหาร ร้องคัดค้านแถลงการณ์ร่วมได้ สมาคม 2-3 คนใส่คำว่าโลกร้อน ก็ฟ้องคัดค้านโครงการสิ่งแวดล้อมได้ทั่วประเทศ

ถ้าให้ใครฟ้องก็ได้ ศาลก็มีอำนาจมาก ก้าวล่วงใครต่อใครได้หมด อยากเอาเรื่องใครกระซิบให้พวกมาร้องก็ได้

นี่คือหลักนิติรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันอยู่ในหลักนิติรัฐ เขาไม่ทำแบบที่วสันต์พูดหรอกครับ แต่เขาอาจมีอำนาจมากบางเรื่อง ที่วสันต์ไม่เข้าใจ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีที่มายึดโยงกับประชาชน มาจากการเลือกของรัฐสภา


นิติรัฐไม่ใช่ศาลเป็นใหญ่

อ.วรเจตน์อธิบายในบทความ “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม” ว่า แก่นของหลักนิติรัฐคือ จำกัดอำนาจของรัฐหรือผู้ปกครองให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย กฎหมายจะต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ ภายใต้กฎหมายบุคคลทุกคนต้องเสมอภาคกัน ซึ่งในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง แนวคิดว่าด้วยหลักนิติรัฐเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นปฏิกิริยาต่อการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นิติรัฐจึงกำเนิดขึ้นคู่กับระบอบประชาธิปไตย

แต่หลักนิติรัฐไม่ใช่มีแค่รูปแบบ ที่ว่ารัฐต้องถูกจำกัดอำนาจไว้โดยกฎหมาย หลักนิติรัฐต้องมีเนื้อหา คือความยุติธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดความโน้มเอียง ที่ถือว่ากฎหมายซึ่งตราขึ้นโดยผู้มีอำนาจย่อมถูกต้องเป็นธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงว่าถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ จนทำให้เกิด “รัฐตำรวจ” ซึ่งเป็นรัฐเผด็จการแบบหนึ่ง

ฉะนั้นถ้าตุลาการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรม ก็จะทำให้เกิด “รัฐตุลาการ” รัฐเผด็จการที่ร้ายกว่า เนียนกว่ารัฐทหารหรือรัฐตำรวจ

“การกล่าวว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่วงการกฎหมายไทยตลอดจนองค์กรตุลาการยอมรับบรรดาคำสั่งของคณะรัฐประหารทั้งปวงว่าเป็นกฎหมาย โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามในทางเนื้อหาเลยว่า สิ่งที่เกิดจากการประกาศของคณะรัฐประหารนั้นมีเนื้อหาที่สอดรับกับความถูกต้องเป็นธรรม และสมควรจะได้ชื่อว่าเป็น “กฎหมาย” ที่ผูกพันองค์กรของรัฐให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่”
นี่ อ.วรเจตน์เขียนไว้

หลักนิติรัฐ คือการปกครองด้วยกฎหมาย ที่มีเหตุผล มีความยุติธรรม ทำให้เกิดหลักต่างๆ ตามมา เช่น หลักไม่มีความผิดไม่มีโทษ (ไม่ใช่ไม่ทุจริตแต่ติดคุก) หลักห้ามลงโทษซ้ำซ้อน หลักห้ามตรากฎหมายย้อนหลังกำหนดโทษแก่บุคคล (นี่โดน 5 ปี) ตลอดจนหลักสมควรแก่เหตุ (ซึ่งถูกปฏิเสธโดย ม.112)

หลักนิติรัฐ ไม่มีหรอกครับที่ทำผิดคนเดียว ประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตร เหมือนรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ที่ศาลใช้ยุบพรรคพลังประชาชน จนนำมาซึ่งเหตุการณ์นองเลือด เพราะความยุติธรรม ความมีเหตุผล ตระหนักได้ในใจคนต่อให้ไม่รู้กฎหมายก็ตาม

ส่วนการเปิดพจนานุกรม น่าจะไม่มีหลักอะไรเลย (ฮา) เพราะไม่ว่าใช้หลักไหน การทำกับข้าวออกทีวีก็ไม่ใช่ลูกจ้าง

“รัฐตุลาการ” ก็คือรัฐเผด็จการแบบหนึ่ง ซึ่งน่ากลัวที่สุดเพราะมาจากรากฐานความคิดว่าตัวเองดี ถูก รักชาติ รักในหลวงแต่ผู้เดียว มีอคติทางการเมือง แล้วก็ใช้อำนาจศาลเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐ แต่อ้างประโยชน์สาธารณะ

อย่างว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ท่านอ้าง สนับสนุนการลงโทษย้อนหลัง คนมันเลวไม่ต้องใช้หลักนิติรัฐ มันทำลายหลักนิติรัฐจะไปปกป้องมันทำไม แถมยังบอกว่าตุลาการคือผู้รู้ ผู้อยู่เหนือประชาชนทั่วไป ท่านตัดสินอย่างไรต้องยอมรับ

“รัฐตุลาการ” หรือระบอบตุลาการเป็นใหญ่ ขัดต่อหลักนิติรัฐ ซึ่งไม่ให้ใครใช้อำนาจตามอำเภอใจ แล้วที่จริงก็เป็นตลกร้าย เพราะนิติรัฐเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้อำนาจรัฐราชาธิปไตย นิติรัฐถือว่าทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย แต่ตุลาการไทยที่เป็นจารีตนิยม ถือตนเป็นศาลในพระปรมาภิไธย สูงส่งกว่าใครอื่น กลับอ้างนิติรัฐ

ภิวัตน์มีอำนาจเรียกรับเงิน

ส.ว.ลากตั้งและ ส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดยไพบูลย์ นิติตะวัน วิรัตน์ กัลยาศิริ ทำตัวเป็นผู้รับใช้ศาลและองค์กรอิสระ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้คุณพ่อศาลยุติธรรม คุณพ่อศาลปกครอง และคุณพ่อ ป.ป.ช.อย่างเพียงพอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 8 และวรรค 9

“รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามวรรคแปด หากหน่วยงานนั้นเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอ ให้สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง”

รัฐธรรมนูญ 2 วรรคนี้ไม่เคยมีมาก่อนนะครับ เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญ 2550 และไม่มีที่ไหนในโลก มีแต่รัฐธรรมนูญฉบับตุลาการเป็นใหญ่นี่แหละ ให้อำนาจเรียกเอางบประมาณจากกรรมาธิการได้โดยตรง

พอกรรมาธิการไม่ให้ ก็มีลูกขุนแห่พยักว่าขัดรัฐธรรมนูญ

หลักการแยกอำนาจ 3 ฝ่ายตามระบอบประชาธิปไตย ตามหลักนิติรัฐ ซึ่งให้อำนาจถ่วงดุลกัน ไม่มีหรอกครับที่ให้ศาล องค์กรอิสระ เอางบประมาณจากภาษีประชาชนไปใช้ได้ตามอำเภอใจ เขาต้องให้ฝ่ายบริหารซึ่งดูภาพรวมทั้งหมด ดูความเหมาะสมของทุกหน่วยงาน จัดสรรงบประมาณให้ก่อน แล้วให้รัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน เป็นผู้พิจารณาขั้นสุดท้าย นี่คืออำนาจที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ มีไว้ถ่วงดุลศาล

ต่อให้เขียนไว้อย่างนี้ ถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจว่า “เพียงพอ” ก็คือรัฐสภานั่นเอง ไม่ใช่ศาลหรือองค์กรอิสระ จะตู่เอาได้ตามใจชอบ เพราะถ้าทุกหน่วยงานเห็นว่าตัวเองได้ไม่พอ ใครจะตัดสินละครับ ศาล องค์กรอิสระ มีสิทธิเหนือหน่วยงานอื่น เหนือกระทรวงศึกษา กระทรวงสาธารณสุข อย่างนั้นหรือ

แล้วก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลกับรัฐสภาตัดงบจนเหลือน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะงบแต่ละองค์กรก็เพิ่มขึ้น แต่ก็เหมือนทุกหน่วยงานที่เสนอมาล้นเกิน ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอใจ คิดดูว่าศาลยุติธรรมขอมาตั้ง 26,250 ล้าน รัฐบาลจัดให้ 14,590 ล้าน ศาลปกครองขอ 2,937 ล้าน รัฐบาลจัดให้ 2,047 ล้าน ทุกหน่วยงานเขาก็ตัดกันแบบนี้

น่าสนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ถ้าบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้ศาลและองค์กรอิสระ ของบได้ไม่อั้นเพื่อไปขยายอาณาจักรและบำรุงบำเรอกันสบายใจ

โดย ใบตองแห้ง ที่มา voicetv
                                                                                   

No comments:

Post a Comment