Wednesday, February 6, 2013

"ขอโทษนะ-ประชาชนเขาไม่ยอมอีกต่อไปแล้ว"

เปรยกับเพื่อนหลายคนว่า "ไปไม่เป็นแล้ว" สำหรับการเฝ้ากระตุกให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาสำคัญของประเทศไทยนั่นคือ ภาวะที่ เรากำลังเดินออกห่างจากหลักการประชาธิปไตยสากลจนกลายเป็นความแปลกหน้าต่อกันอย่างสิ้นเชิง



หลายๆคนบอกว่า เมืองไทยมีปัญหาไม่มีพื้นที่สำหรับคน "คิดต่าง"-เรื่อง "คิดต่าง" ตามหลักสากลที่สังคมพึงมีขันติธรรมต่อคนคิดต่างนั้น ออกจะกลับตาลปัตรกับสังคมไทยอยู่มาก

เช่น สังคมที่ยึดถือคุณค่าของประชาธิปไตย ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคนรักประชาธิปไตยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศพึงมีขันติธรรมต่อคนที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตยอาจจะเชื่อในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เชื่อในเผด็จการ เชื่อในแนวคิดของการปฏิเสธอาจรัฐโดยสิ้นเชิง

หรือสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกการเคารพคนคิดต่าง อาจหมายถึงการเคารพคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่คาทอลิก หรือเคารพคนที่ไม่นับถือศาสนา



สำหรับฉันนี่คือหลักการของการมีขันติธรรมต่อคนที่คิดต่าง

แต่ในสังคมไทยกลับตาลปัตร เพราะคน "คิดต่าง" ในสังคมไทยนั้นมักเป็นคนที่มีความคิดเหมือนคนในนานาอารยประเทศ อันไม่จำเป็นต้องมี "ขันติ" ให้เป็นพิเศษ เพราะเป็นความคิดที่ไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในบริบทของสังคมไทยคนที่ถูกเรียกร้องให้ได้รับความเป็นธรรมและขันติธรรมจากสังคมคือ คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ เช่น การบอกว่า "คุณสมยศไม่ได้ทำอะไรผิด เขาแค่คิดต่าง"

หากการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพในสังคมไทยกลายเป็นความ "คิดต่าง" นั่นแสดงว่าเราได้ยอมรับโดยดุษฎีว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ปฏิเสธคุณค่าประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล เท่ากับเราได้ยอมรับไปโดยไม่รู้ตัวว่าสังคมของเราเป็นสังคมอนารยะ ป่าเถื่อน เพราะมีแต่สังคมที่ป่าเถื่อนเท่านั้นที่เห็นว่าต้องมีขันติธรรมให้กับความ "อารยะ" และมีแต่สังคมเผด็จการเท่านั้นที่เห็นว่าต้องมีขันติธรรมต่อความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย

(ซึ่งย้อนแย้งอย่างมากเพราะมีแต่หลักการของประชาธิปไตยเท่านั้นที่มีหลักประกันความปลอดภัยให้กับคนที่คิดต่าง แต่ในสังคมที่ไม่เป้นประชาธิปไตยย่อมไม่มีการให้คุณค่าเรื่องขันติธรรมต่อความคิดต่างโดยปริยาย เมื่อเป็นดังนี้คุณสมยศและคนอื่นๆ ที่คิดเหมือนคุณสมยศจึงติดคุก)

ในกรณีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่กังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนล้วนแต่เต้นเร่าและตบอกผาง แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองไทย แต่คนไทยกลับไม่กังวลต่อเรื่องนี้เท่ากับนโยบายรถคันแรกทำให้รถติดวายป่วงหรือการจำนำข้าวจะให้มีเมล็ดข้าวท่วมทับหัวคนไทยจนมิดหัวมิดหูมีข้าวชื้น ขึ้นรา น่าละอาย ขายไม่ออก

จากวันนั้นถึงวันนี้ดูเหมือนประชาชนผู้ตื่นรู้ทางการเมืองเหล่านี้จะลืมไปแล้วว่าจำนำข้าวคืออะไร?และไม่ได้สนใจอีกต่อไปแล้วว่าข้าวในสต็อกของรัฐบาลจะขายออกหรือไม่ เพราะติดนิสัยเป้นกระต่ายตื่นตูมดราม่าป้อน feed ในเฟซบุ๊กกันไปเป็นวันๆ

มันน่าตระหนกมากสำหรับสังคมที่อวดอ้างความเป็นเมืองที่เคร่งครัดต่อศรัทธาทางศาสนาสังคมที่มักการโอ่อวดความศรัทธาความดี จริยธรรม ศีลธรรม สังคมที่หนังสือเบสต์เซลเลอร์ของทุกสำหนักพิมพ์คือหนังสือธรรมะ และหนังสือที่มุ่งชำระความผุดผ่องทางจิตวิญญาณ สังคมที่สัดส่วนของทรัพยากรจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้ในการสร้างสถานปฏิบัติธรรม รูปปั้น รูปเคารพบูชา อาราม ไม่รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการบุญบูชาที่มีอย่างหลากหลาย และมีพลังในการสร้างสรรค์กิจกรรมรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

สังคมเดียวกันนี้เอง ที่เพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมที่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันต้องเผชิญ และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงแต่เพิกเฉยแต่ผสมโรงสมน้ำหน้า บ้างถึงขั้นสาปแช่งให้ไปตาย



ไม่แต่กรณีสมยศ หลังการสลายการชุมนุม มีคนถูกจับเข้าคุกเพราะการกระทำอันมีมูลเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมืองจำนวนมาก และในจำนวนมากของจำนวนมากนั้นมิได้กระทำความผิดร้ายแรงอย่างที่ถูกกล่าวหา บ้างเป็นแค่ไทยมุง บ้างถูกหิ้วไปซ้อม บังคับให้รับสารภาพในชั้นพนักงานสอบสวน

จำนวนมากเป็นคนชายขอบของชายขอบซึ่งไม่อาจมีต้นทุนทางสังคมใดๆมาปกป้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง เช่น เป็นคนจน เป็นโนบอดี้ไม่มีใครรู้จัก เป็นแค่คนหาเช้ากินค่ำ บ้างเป็นคนพิการแต่ถูกจับยัดอาวุธกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

แน่นอนนี่คือกลไกการหาแพะมาสังเวยความสาแก่ใจของสังคมที่ลุซึ่งอำนาจลุ่มหลงในตนเอง โลกแคบ และขาดการศึกษา

เรื่องราวที่แสนสะเทือนใจและสะเทือนโครงสร้างทางสังคม (หากตั้งเป้าเอาไว้ว่าอยากสร้างสังคมที่เป็นธรรม อยากลดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจอย่างที่พวกคนดีกินภาษีบาปมักสำรอกออกมาเป็นนิตย์) เหล่านี้กลับไม่เคยมีพื้นที่สำหรับ "ส่งเสียง" ของพวกเขาออกมาในสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อเสรี สื่อฟรี สื่อสาธารณะ ที่สำรอกคำว่าศีลธรรม ความดีงาม พลังของคนเล็กๆ ออกมาวันละห้าเวลาหลังอาหาร หลังตื่นนอน และก่อนนอน

ราษฎรอาวุโส, พระนักกิจกรรมเพื่อสังคม, นักรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของสื่อ, นักสิทธิมนุษยชน และผู้รักความเป็นธรรม เกลียดนักการเมือง เพรียกหาพลังภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ทั้งหลาย-กี่ปีแล้วที่พวกท่านนั่งเป็นพระอิฐพระปูน เป็น "ทอง" ไม่รู้ร้อน ต่อความฉ้อฉลในโครงสร้างทางการเมืองและความยุติธรรมที่เกิดขึ้นซึ่งๆ หน้า

และเรียกประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากคุณว่าพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นขี้ข้าทักษิณและ "ไม่ดี" พอที่จะเป็น "ภาคประชาชน"

ทุกวันนี้ "ประชาชน" กลุ่มหนึ่งต้องติดคุก และถูกปฏิเสธสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมีนั่นคือสิทธิในการประกันตัว-คนเหล่านี้ถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าแต่เท่าที่ได้ยินจากพวกท่านคือ"ความเงียบ"

เงียบราวกับว่าเราอยู่คนละโลกและคนเหล่านี้มิได้อยู่ในข่ายของความยุติธรรมที่มนุษย์ทั่วไปพึงได้รับ

เหตุผลง่ายๆ ที่ไม่มีใครยอมรับอย่างกล้าหาญคือเพียงเพราะเขามีจุดยืนทางการเมืองต่างกับพวกท่าน ท่านก็ไม่เห็นเขาเป็นคน ไม่มีพวกเขาอยู่ในสายตา ไม่มีค่าพอที่ท่านจะออกมาปกป้องแม้ว่าการปกป้องพวกเขาจะเท่ากับการปกป้องและยืนยันในหลักการของความเป็นธรรมที่พวกท่านเพรียกหาหรือแม้แต่หน้าด้านสถาปนาตัวเองเป็นตัวแทนแห่งความเป็น"ธรรม"

ถ้าคนเหล่านี้ยังมีความละอายอยู่บ้าง น่าจะซื่อสัตย์กับตัวเองพอที่จะไม่เรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน

แต่เรียกตนเองให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า "คณะกรรมการทำลายสิทธิมนุษยชนให้สิ้นซากเพื่อต่อต้านความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและสกัดกั้นความเข้มแข็งของประชาชนในทุกวิถีทาง"หรือ"คณะกรรมการส่งเสริมเผด็จการแห่งชาติ"



สื่อที่อ้างตัวเป็นสื่อสาธารณะน่าจะประกาศตัวชัดเจนไปเลยว่าเป็นสื่อที่รังเกียจประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งปรารถนาประเทศที่ปกครองโดยเอ็นจีโออาวุโสเพราะเชื่อมั่นในคุณธรรมความดีของคนที่ทำมาหากินจากอาชีพ"ช่วยชาวบ้าน"

เราอาจเรียกการปกครองระบอบนี้ว่า เอ็นจีโอธิปไตย ก็ไม่เห็นแปลกอะไรหากชอบในหลักคิดและวิธีการทำงานของพวกเขาอย่างแท้จริง ส่วนจะปกครองประชาชนได้อย่างไรก็ต้องหาวิธีจัดการล้างสมองประชาชนให้เชื่องกันเอง-และอาจจะยากนิดหน่อย เพราะที่เห็นทุกวันนี้ก็พยายามทำอยู่ไม่สำเร็จ

มันเป็นตลกร้ายสำหรับการเมืองไทยที่ถูกคนกลุ่มหนึ่งตั้งค่ามาตรฐานของวัฒนธรรมการเมืองเอาไว้ว่าการเลือกตั้งคือความฉ้อฉล นักการเมืองคือตัวแทนความสามานย์ ประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องมีการถ่วงดุลจาก ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณธรรม ผู้ทรงไว้ซึ่งศีลธรรม ผู้เป็นปราชญ์

จนในที่สุดมาลงเอยที่ นักการเมืองถูกควบคุม ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ แต่ไม่มีใครตรวจสอบ ควบคุม วิพากษ์วิจารณ์ คนดี มีคุณธรรม หรือผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายราวกับว่า หากใครได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นตัวแทนศีลธรรมอันดีก็จะอยู่ในสถานะที่ไม่พึงถูกตั้งคำถามอีกต่อไป

คนที่ไปตั้งคำถามต่อพฤติกรรมและอุดมการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรมเหล่านั้นต่างหากที่ชั่วช้า บังอาจ กำเริบ เหิมเกริม ถือดี

แต่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรมที่อยู่เหนือการวิพากษ์ วิจารณ์ อันมีอยู่ดาษดื่นหลาย้อยหลายพันคนในประเทศไทยกลับสามารถนั่งดูเพื่อนร่วมชาติถูกสังหารหมู่จากอาวุธสงครามของกองทัพอย่างไม่สะทกสะท้าน

ใครก็ตามที่อ่านมาถึงตรงนี้ช่วยเอ่ยชื่อ "คนดี" ออกมาสักคนว่ามี "คนดี" คนไหนบ้างที่ออกมาประกาศกร้าวว่า ไม่ว่าจะในเงื่อนไขไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิเคลื่อนอาวุธสงครามออกมาฆ่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ

แต่ก็เปล่า ทั้งนี้เพราะเปิดหน้ากากสังคมไทยออกมาจริงๆ เราจะพบว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่รังเกียจประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคน

ชนชั้นไทยไม่เคยปรารถนาจะเห็นอำนาจการเมืองอยู่ในมือของประชาชน

พวกเขาอุตส่าห์คิดหาคำศัพท์ขึ้นมามากมายเพื่อกลบเกลื่อนความรังเกียจประชาธิปไตยของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นธรรมาธิปไตย,ระบอบการคานอำนาจนักการเมืองด้วยสภาประชาชนที่คัดสรรมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรม, อำนาจขององค์กรกลาง, องค์กรอิสระ, ปราชญ์ชาวบ้านในฐานะผู้นำตามธรรมชาติ

แต่เบื้องหลังแนวคิดเหล่านี้ทั้งหมดเป็นไปเพื่อดิสเครดิตการเมืองจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น



เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เสียงจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้มแข็ง และหากจะมีการกวาดล้าง ฆ่า หรือจับใครเข้าคุกกันบ้าง "คนดี" เหล่านี้จึงพร้อมใจกันไปเป่าสาก บ้างไปเลี้ยงหลาน บ้างทำเบลอใส่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เผลอๆ ก็โผล่บทความสำแดงความดีด้วยการเขียนเรื่อง "การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อรักษาภาพพจน์คนดีรักความเป็นธรรม

ปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในสังคมไทยตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีขันติธรรมต่อคนคิดต่าง

แต่เป็นสงครามระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นสมัยใหม่กลับกลุ่มคนที่อยากผูกขาดความเป็นสมัยใหม่ไว้ที่ชนชั้นตนเองเท่านั้น

และอยากเก็บชาวบ้านไว้กับความป่าเถื่อนเพื่อกดขี่บีฑาอย่างที่สุดและนับวันจะเลือดเย็นมากขึ้นทุกที

ขอโทษนะ-ประชาชนเขาไม่ยอมอีกต่อไปแล้ว

โดย คำ ผกา ที่มา บทความ "ขอโทษนะ" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2555

No comments:

Post a Comment